รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 21 - 25 มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 28, 2016 14:22 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week

  • ในเดือน ม.ค. 59 ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ คิดเป็น 1.67 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรง ตามกฎหมาย โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินอยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ก.พ. 58 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -13.9 พันล้านบาท
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. 59 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 160.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนก.พ. 59 ได้จำนวน 154.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 53.7 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 59 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7
  • วันที่ 23 มี.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -2.0 ในขณะที่ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -7.5
  • GDP เกาหลีใต้ (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ตลาดบ้านของสหรัฐฯ ทรงตัว โดยยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 59 เพิ่มขึ้น 314,000 หลัง
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด

Indicator next week

Indicators               Forecast          Previous
Mar : Inflation (%YOY)       -0.4              -0.5

ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.5 โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดคาดว่าจะมีการปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากหมดเทศกาลตรุษจีนในเดือนก่อนหน้า ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Economic Indicators: This Week

ในเดือน ม.ค. 59 ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ คิดเป็น 1.67 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน อยู่ที่ 1.36 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ก.พ. 58 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -13.9 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 8.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -5.2 พันล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุล 23.8 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุล 18.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 5 เดือนแรก ปีงปม. 59 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -429.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินอนกงบประมาณที่ขาดดุล -44.1 พันล้านบาทส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ ขาดดุล -473.1 พันล้านบาท และรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 313.0 พันล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุล -160.1 พันล้านบาท และทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.พ. 59 อยู่ที่ 266.1 พันล้านบาท

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ก.พ. 59 ปีงปม. 59 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 160.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ต่อปี โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 138.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ต่อปี ซึ่งแบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 108.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -0.8 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 29.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 4.7 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 3.0 พันล้านบาท และงบรายจ่ายอื่นของกระทรวงกลาโหม 2.8 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันในช่วง 5 เดือนแรกปี งปม. 59 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,187.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 43.6 ของวงเงินงปม.

Economic Indicators: This Week

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนก.พ. 59 ได้จำนวน 154.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ต่อปีและต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 12.4 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ -7.4 โดยมีรายการสำคัญ ดังนี้ (1) ภาษีฐานบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ต่อปี ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงร้อยละ -2.3 ต่อปี และ (2) การจัดเก็บภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น 0.7 ต่อปี และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในช่วง 5 เดือนแรกปีงปม. 59 จัดเก็บได้ 898.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ต่อปี และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 43.9 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.1

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ก.พ. 59 มีมูลค่า 53.7 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.6 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ขยายตัวได้จากภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก (ขยายตัวร้อยละ 5.7) ขณะที่ภาษีที่จัดเก็บจากการนำเข้าหดตัว (ร้อยละ -1.3) ลดลงตามมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ โดยในเดือน ก.พ. 59 ราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงร้อยละ -52.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 59 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

วันที่ 23 มี.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม แต่นโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยในเดือน ก.พ. สินค้าเกษตรที่ผลผลิตหดตัว ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ขณะที่สินค้าที่มีผลผลิตขยายตัว ได้แก่ ยางพารา กลุ่มไม้ผล หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 59 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.2 ตามการหดตัวของราคาสินค้าเกษตรในเกือบทุกรายการ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้มีอุปสงค์จากต่างประเทศลดลง ยกเว้นราคาสินค้าในหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ในเดือน ก.พ. นี้ โดยได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ที่มีมากทั้งจากในประเทศ และจากประเทศจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

Economic Indicator: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 59 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ-0.4 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.5 โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาสินค้าจำพวกอาหารสดคาดว่าจะมีการปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากหมดเทศกาลตรุษจีนในเดือนก่อนหน้า ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ คาดว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดบ้านสหรัฐฯ ทรงตัว โดยยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 59 เพิ่มขึ้น 314,000 หลัง เร่งขึ้นจากเดือนก่อน จากยอดขายบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ราคากลางบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ 2.1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวร้อยละ -1.4 จากเดือนก่อน จากทั้งราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียมที่ลดลง ด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 59 อยู่ที่ 494,000 หลังต่อปี หรือหดตัวร้อยละ -9.2 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากยอดขายในภาคตะวันตกและ Midwest ที่ลดลงมาก ขณะที่ราคากลางบ้าน เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน(ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

Japan: worsening economic trend

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด ลดจากระดับ 50.1 จุด ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องทั้งนี้ดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่า 50 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน บ่งชีกิจกรรมภาคการผลิตที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามการส่งออก ส่วนอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 กลับมาอยู่ในแดนบวกที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าอาหาร ค่าขนส่ง และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เร่งขึ้น

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ -9.7 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง สะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ 53.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากการฟื้นตัวทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 51.4 จุด และดัชนีฯ ภาคบริการ อยู่ที่ 54.0 จุด อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ เฉลี่ยทั้ง ไตรมาสอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาค่าเช่า และค่าขนส่งที่ยังลดลงต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าหมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่หดตัวในระดับสูง

United Kingdom: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยราคาอาหาร ขนส่ง และเครื่องนุ่งห่ม ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.73 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)โดยเป็นผลจากการหดตัวของยอดขายเชื้อเพลิงรถยนต์

Philippines: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไตรมาสที่ 1 ปี 59 อยู่ที่ระดับ -5.7 จุด สูงสุดในรอบ 3 ปี จากทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินที่ปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 30.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 5 ปี 2 เดือน จากการนำเข้าสารกึ่งตัวนำที่ขยายตัวสูง โดยส่งออกที่หดตัวและการนำเข้าที่ขยายตัวสูง ทำให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 59 ขาดดุลสูงถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 59 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.00 ต่อปี ต่อเนื่อง 1 ปีครึ่ง

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อน จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

South Korea: improving economic trend

GDP (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาส 4 ปี 58 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.0 ในการประกาศครั้งก่อน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

Taiwan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม เป็นเดือนที่ 2 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 59 หดตัวร้อยละ -6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 3 เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 59 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.125 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี นับเป็นการปรับลงครั้งที่ 3 นับจากเดือน ก.ย. 58

Vietnam: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 8.1 ในเดือนก่อน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 59 ขยายตัว ร้อยละ 6.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -1.8 โดยดุลการค้าขาดดุล 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากสินค้าภาคการผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากค่าบริการทางด้านสุขภาพและการศึกษาที่ปรับตัวสูงขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อนมาอยู่เหนือระดับ 1,400 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 24 มี.ค. 59 ปิดที่ 1,405.4 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่ 54,635.9 ล้านบาท โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาในสัปดาห์นี้ ทำให้มีแรงซื้อโดยเฉพาะในหลักทรัพย์กลุ่มธนาคาร และความชัดเจนของ บ. แจส โมบาย บรอดแบนด์ ที่ไม่มาชำระค่าใบอนุญาตเครือข่าย 4G บนความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) งวดแรก ทำให้ ตลท. ประกาศหยุดการซื้อขายของหุ้นบริษัทดังกล่าวและให้ชีแจ้งเหตุผล และทำให้หลักทรัพย์กลุ่มเทคโนโลยีและสารสนเทศปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากเหตุการณ์ระเบิดที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,461.7 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงเล็กน้อยเพียง 1-2 bps จากผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 59 ซึ่งมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 2,891.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 24 มี.ค. 59 เงินบาทปิดที่ระดับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 1.36 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ ส่วนใหญ่ ยกเว้น ริงกิต มาเลเซียและวอนเกาหลีใต้ที่แข็งค่าจากดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 1.08 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ