รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 เมษายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2016 13:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 เมษายน 2559

Summary:

1. คมนาคมดึงเอกชนลงทุนศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

2. กสิกรไทยฯคาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท 34.90 - 35.20 จับตาผลเฟด - BOJ

3. เอเชีย-แปซิฟิก แชมป์ FDI อินเดียแซงจีน

1. คมนาคมดึงเอกชนลงทุนศูนย์คมนาคมพหลโยธิน
  • นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคมเปิดเผยว่า กระทรวงได้จัดงานสัมมนาทดสอบความสนใจ นักลงทุน (Market Sounding) โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ ทั้งนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่า 20,000 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากโครงการลงทุนศูนย์คมนาคมพหลโยธิน สามารถดำเนินการได้เร็วอาจมี เม็ดเงินระยะแรกบางส่วนเกี่ยวกับค่าศึกษาโครงการ หรือค่าใช้จ่ายในการวางแผนโครงการสามารถลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในปลายปี 59 นี้ และในระยะต่อไปคาดว่าเม็ดเงินจะสามารถลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านการลงทุนของรัฐบาล ทั้งนี้ หากโครงการนี้มีการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ด้วย ก็จะเกิดแรงขับเคลื่อนไปยังการลงทุนภาคเอกชน รวมไปถึงการจ้างงานที่มากขึ้น โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาคได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลงทุนของภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปี 59 นี้ โดยคาดว่าจะขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 11.1 (คาดการณ์ ณ ม.ค. 59) ต่อเนื่องจากปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 29.8 ทั้งนี้ สศค. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในสิ้นเดือน เม.ย. 59 นี้ เพื่อให้ข้อมูลมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด
2. กสิกรไทยฯคาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาท 34.90 - 35.20 จับตาผลเฟด - BOJ
  • ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำหรับสัปดาห์ถัดไป (25-29 เม.ย.) ที่ 34.90-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอาจต้องจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (26-27 เม.ย.) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (27-28 เม.ย.) นอกจากนี้ สำหรับตลาดในประเทศต้องติดตามข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. ด้วยเช่นกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้ มีปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นเกี่ยวกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทั้งสองประเทศที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากเฟดและธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น จนส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยเข้าไปยังตลาดทุนของทั้งสองประเทศมากขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมานี้ จะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง โดยที่ค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ 35.01 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ สำหรับในสัปดาห์นี้ สศค. จะทำการวิเคราะห์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทและประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยประจำปีเดือน มี.ค. 59 และไตรมาสแรกของปี 59 ต่อไป
3. เอเชีย-แปซิฟิก แชมป์ FDI อินเดียแซงจีน
  • ข้อมูล จาก "FDI Intelligence" ของไฟแนนเชียล ไทมส์ ชี้ว่า ปี 58 บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในเอเชีย-แปซิฟิกรวม 3,883 โครงการ เป็นมูลค่า 302,500 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับร้อยละ 45 ของเงินลงทุนใหม่ (Greenfield investment) ทั่วโลก มูลค่าเงินลงทุนใหม่ปีที่แล้วในเอเชียแปซิฟิกลดลงร้อยละ 7 เทียบกับปี 57 แต่ FDI รวมปรับเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 29 และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่จีนกลายเป็นตัวถ่วงด้านเงินลงทุนของภูมิภาค จากเดิมที่เคยเป็นแรงหนุน โดยปี 58 FDI ขาเข้าจีนดิ่งลงร้อยละ 23 และจำนวนโครงการลดร้อยละ 16 เนื่องจากเศรษฐกิจแผ่วและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังถูกอินเดียแซงหน้า ขึ้นแท่นประเทศที่ดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงสูงสุด ด้วยมูลค่ารวม 63,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนอยู่ที่ 56,600 ล้านดอลลาร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับสูงในไตรมาสที่ 4 ปี 58 หลายประเทศอาทิ อินเดียที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สูงถึงร้อยละ 7.3 จึงดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเงินลงทุนนั้นจะมีการกระจุกตัวในประเทศอินเดียและประเทศจีนเป็นหลัก ถึงแม้ประเทศจีนจะประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่านักลงทุนจากต่างประเทศยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ว่าจะขยายตัวได้ในอนาคต โดย สศค. ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียในปี 59 ไว้ที่ร้อยละ 6.6 และ 7.3 ตามลำดับ ( ประมาณการ ณ เดือน ม.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ