รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 13:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. อพท. ปรับโฉมโอท็อปปรับท่องเที่ยว

2. ส่งออกเฝ้าระวังบาทแข็งทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

3. เผยราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังอุปทานโลกลดลง

1. อพท. ปรับโฉมโอท็อปปรับท่องเที่ยว
  • กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดำเนินโครงการ "ประชารัฐพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" นำร่อง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ 1) บ้านเชียง อุดรธานี 2) บ้านนาตีน กระบี่ 3) บ้านนาตาโพ อุทัยธานี 4) บ้านโพธิ์กอง สุรินทร์ 5) บ้านหนองผือน้อย อุบลราชธานี และ 6) บ้านไร่กองขิง เชียงใหม่ โดยจะเป็นการพัฒนาสินค้าโอท็อปผนวกการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวนับเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยที่สามารถพยุงเศรษฐกิจไทยไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แนวโน้มภาคบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตก็ยังคงสดใส โดยเฉพาะในปีปัจจุบันที่การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยายตัวในระดับสูง ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดในช่วง4 เดือนแรก ขยายตัวถึงร้อยละ 15.5 คิดเป็นนักท่องเที่ยวจำนวน 9.04 ล้านคน ทั้งนี้ จากนโยบายการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นควบคู่กับการท่องเที่ยว คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมากขึ้นจากการเพิ่มจุดสนใจของการท่องเที่ยวไทยผ่านผลิตภัณฑ์ และยังรวมถึงมูลค่าเพิ่มที่จะได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชน นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าว ยังมีส่วนช่วยทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง สร้างความหลากหลายให้สินค้าไทย และทำให้ชุมชนสามารถพึงพาตัวเองได้
2. ส่งออกเฝ้าระวังบาทแข็งทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกได้จับตามองอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะ หากแข็งค่าขึ้นจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก หลังจากเมื่อประมาณ 10 วันก่อน เงินบาทแข็งค่าในช่วงสั้นๆ ที่ระดับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของ สหรัฐฯ ในภาพรวมที่ยังไม่ค่อยดี ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า และเงินบาทแข็งค่าขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดในวันที่ 13 พ.ค. 59 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าค่าเงินบาทในช่วงนี้ยังค่อนข้างดี และการแข็งค่าหรืออ่อนค่ายังเป็นไป ในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่เป็นคู่แข่งขันการส่งออก ทำให้ไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากนัก แต่มีเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย และเวียดนาม ที่ถัวเฉลี่ยค่าเงินจะอ่อนค่ากว่าค่าเงินบาท ประกอบกับเริ่มมีการพัฒนาผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาใกล้เคียงกับไทย อาจส่งผลให้ได้เปรียบทางการค้ามากกว่าไทย ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับการส่งออกแล้ว ความกังวลใจของผู้ส่งออกในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนถือว่ายังมีน้อยกว่าความกังวลใจจากปัจจัยอื่น อาทิ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลต่อกำลังซื้อ และการนำเข้าสินค้า
3. เผยราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังอุปทานโลกลดลง
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รายงานสถานการณ์น้ำมันปิดตลาด น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับเพิ่มขึ้น 0.47 เหรียญ มาอยู่ที่ 46.70 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.48 เหรียญ มาอยู่ที่ 48.08 เหรียญ โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสวานนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 1 ขึ้นมาแตะระดับที่สูงสุดในรอบ 6 เดือน นักลงทุนได้ให้น้ำหนักกับการคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบโลกส่วนเกินที่จะปรับตัวลดลง โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ได้คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมไปถึงปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐที่ลดลง 4.1 แสนบาร์เรลต่อวัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะหลังนี้เป็นผลมาจากอุปทานของน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทั้งจากการที่ประเทศสหรัฐมีการผลิตน้ำมันที่ลดลง เหตุการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในประเทศในจีเรียซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของทวีปแอฟริกา ทำให้การผลิตน้ำมันของประเทศในจีเรียลดลงอย่างมาก และเหตุการณ์ไฟป่าในประเทศแคนาดาที่ส่งผลกระทบการผลิตน้ำมันโดยรวม 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจัยที่กล่าวมานั้นส่งผลให้อุปทานน้ำมันของโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยระยะสั้นอาจไม่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในระยะยาว ทั้งนี้ สศค.คาดว่าราคาน้ำมันในปี 59 ไว้ที่ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ