รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2 - 13 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 13:55 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.1
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.7
  • อัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -12.9
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 59 เกินดุล 4,952.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 59 คิดเป็น 1.73 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน เม.ย. 59 มีจำนวน 117,366 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 61.5
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มี.ค. 59 มีจำนวน 23,763 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -21.2
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 59 มีจำนวน 48,883 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.2
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 59 หดตัวที่ร้อยละ-2.6
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาส 1 ปี 59ขยายตัวร้อยละ 4.2

Indicator next week

Indicators              Forecast  Previous
April : Cement sale (%YOY)  4.8     3.4
  • โดยคาดว่าเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หลังจากติดลบต่อเนื่องถึง 15 เดือนติดต่อกัน โดยเป็นผลมาจากราคาอาหารสดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าจำพวกผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศแล้งจัด ทำให้มีผลต่อราคาและผลผลิตเกษตร นอกจากนี้ ราคาอาหารสำเร็จรูปทั้งที่บริโภคในบ้านและนอกบ้าน ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 59 มียอดคงค้าง 16.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มี.ค. 59 มียอดคงค้าง 17.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงเล็กน้อย โดยเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งขึ้น ขณะที่การขยายตัวของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

การจ้างงานเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ 37.2 ล้านคน ลดลง 2.9 แสนคน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการลดลงของการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากปีก่อนส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาการก่อสร้าง ส่วนการจ้างงานภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ที่ขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นช่วงตรงกับเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาการขายส่งและขายปลีก และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ทั้งนี้ อัตราการว่างงานในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.96 แสนคน

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -12.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าหดตัวร้อยละ -1.9 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/59 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กหดตัวร้อยละ -6.9 ต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -5.3 ต่อไตรมาสหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มี.ค. 59 เกินดุล 4,952.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุลสูงสุดนับตั้งแต่ปี 48 ที่ 7,401.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทั้งดุลการค้าและดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุลลดลงจากเดือนก่อน โดยดุลการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 4,687.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนืองจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ชะลอลงจากเดือนก่อน แต่มูลค่าการนำเข้ายังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวสูง ตามราคาน้ำมันและการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเพียง 264.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายรับจากภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 59 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 16,419.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 59 คิดเป็น 1.73 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน อยู่ที่ 1.53 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝาก เป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 100 ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน เม.ย. 59 มีจำนวน 117,366 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับมาขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.4 โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กรุงเทพฯ (ร้อยละ 9.6) และในเขตภูมิภาค (ร้อยละ 1.0) เนื่องจากมีโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่สอง กอปรกับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคายางพาราที่เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรให้ปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยบวกให้มีการใช้จ่ายในสินค้าคงทนประเภทรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทั้งประเทศหดตัวร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 61.5 ปรับลดลงจากระดับ 62.4 ในเดือน มี.ค. 59 เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่ ต.ค. 58 โดยผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของ สศค. อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ กอปรกับการส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีในระดับสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.0

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน มี.ค. 59 มีจำนวน 23,763 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -21.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -29.9 อันเป็นผลจากทีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 59 กอปรกับมีงานมหกรรมยานยนต์ (Motor Expo)ในช่วงปลายปี 58 ที่ทำให้มีการเร่งการบริโภคไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งจึงยังคงมีการหดตัวในเดือน มี.ค. 59 ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ -26.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -17.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%qoq_sa)

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 59 มีจำนวน 48,883 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (%mom_sa) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากงาน Bangkok International Motor Show และการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ในเดือน มี.ค. 59 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 16.5 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ในไตรมาส 1/59 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี แต่หดตัวร้อยละ -10.7 ภายหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน เม.ย. 59 หดตัวที่ร้อยละ -2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของดัชนีเกือบทุกหมวด ยกเว้น หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ดัชนีที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากการก่อสร้างโดยรวมยังทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจ

Economic Indicator: Next Week

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน เม.ย. 59 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดการจ้างงานทรงตัว โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 7 เดือน โดยเพิ่มขึ้นจากภาคบริการทางธุรกิจและวิชาการ และการศึกษาและสุขภาพ ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 59 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม สอดคล้องกับรายได้ภาคเอกชนเฉลี่ยรายสัปดาห์ เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ 877.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อน เพิ่มขึ้นจากภาคค้าปลีกค้าส่ง บริการทางธุรกิจและวิชาการ และการศึกษาและสุขภาพเช่นกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ 50.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่ สินค้าคงคลัง การจัดส่งวัตถุดิบ และผลผลิต ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ 55.7 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน จากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ สินค้าส่งคลัง ราคา และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น

China: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน เม.ย. 59 กลับมาหดตัวร้อยละ -2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปฮ่องกงและสหรัฐฯ ที่หดตัว มูลค่านำเข้า เดือน เม.ย. 59 หดตัวร้อยละ -10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 1 ปีครึ่ง จากการนำเข้าจากทุกประเทศที่หดตัว ยกเว้นฮ่องกงและเวียดนาม ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

Japan: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 40.7 จุด ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 41.6 จุด สะท้อนความกังวลผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้น

Eurozone: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.2 หรือหดตัวร้อยละ -0.8 จากเดือนก่อนหน้า (หลังหักผลทางฤดูกาล) สะท้อนการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 59 โดยเป็นผลจากการหดตัวของการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือหดตัว -0.5 จากเดือนก่อนหน้า (หลังหักผลทางฤดูกาล) โดยหดตัวในทุกหมวดสินค้า อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 59 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10.2 ต่อกำลังแรงงานรวม นับเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี

Taiwan: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน เม.ย. 59 หดตัวร้อยละ -6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปเกือบทุกตลาดที่ชะลอตัวยกเว้นยุโรปและบางประเทศในอาเซียนส่วนมูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -9.6 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน พ.ค. 59 ไว้ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี นับเป็นระดับต่ำต่อเนื่อง 11 เดือนติดต่อกัน

United Kingdom: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 0.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังหักผลทางฤดูกาล) จากการหดตัวในหมวดสินค้าขั้นกลาง สินค้าคงทน และสินค้าทุน เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 59 ธนาคารกลางอังกฤษมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี

Philippines: worsening economic trend

ยอดค้าปลีกสุทธิ เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากยอดขายอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่หดตัวสูง มูลค่าส่งออก เดือน มี.ค. 59 หดตัวร้อยละ -15.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวสูงสุดในรอบครึ่งปี จากการส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน สิงคโปร์ และไต้หวันที่หดตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Indonesia: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากไตรมาสก่อน จากการลงทุนรวมและการบริโภคภาครัฐที่ชะลอลง ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากอาหารและเครื่องดื่มที่ชะลอลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 109.0 จุด ต่ำสุดในรอบ 4 เดือนจากปัจจัยด้านรายได้และการซื้อสินค้าคงทน อัตราเงินเฟ้อ เดือนเม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน

Malaysia: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ผลจากการลงทุนโดยรวมที่ชะลอตัวลงมาก ส่วนหนึ่งจากปัญหาความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายนอกของมาเลเซียที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตหมวดเหมืองแร่ที่ลดลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงใกล้ 1,400 จุด โดยดัชนีฯ ณ วันที่ 12 พ.ค. 59 ปิดที่ 1,399.31 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ที่ 44,685 ล้านบาท โดยเป็นแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ในช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ ขณะที่การเก็งกำไรตามการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ดัชนีฯ กลับมาปิดที่เกือบ 1,400 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 5,086.2 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัว โดยผลการประชุม กนง. ดังกล่าวเป็นไปตามคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 888.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 12 พ.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 35.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าร้อยละ 0.42 จากสัปดาห์ก่อน โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับเงินสกุลอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เงินสกุลอื่นที่อ่อนค่าลงมากกว่าเงินบาท โดยเฉพาะเยนและวอน ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลภูมิภาค โดยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.46 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ