รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 19, 2016 13:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศเดือน เม.ย. 59 ยังคงดีต่อเนื่อง

2. ธ.ออมสิน เผยดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากโดยรวม เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 44.9

3. ญี่ปุ่นเผย GDP ไตรมาส 1/2559 ขยายตัวร้อยละ 1.7 (annualized rate)

1. สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศเดือน เม.ย. 59 ยังคงดีต่อเนื่อง
  • ศูนย์วิจัยด้านการตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศเดือน เม.ย. 59 ว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 128.6 พันล้านบาท ขยายตัว 13.4 ต่อปี ด้วยจำนวน 19.9 ล้านคนครั้ง แบ่งเป็นรายได้จากคนไทย 44.4 พันล้านบาท ขยายตัว 1.17 ต่อปี ด้วยจำนวน 13.3 ล้านคนครั้ง และรายได้จาก คนต่างประเทศ 84.1 พันล้านบาท ขยายตัวที่ 21.2 ต่อปี ด้วยจำนวน 6.6 ล้านคนครั้ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศเดือน เม.ย. 59 ยังคงดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกมาจากการหยุดยาว 5 วัน และส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ ซึ่งสะท้อนได้จากการขยายตัวได้ดีใน กทม. และปริมณฑล และภาคใต้ เป็นสำคัญ และส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์และการท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปในช่วงสงกรานต์มาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ ททท. ได้ประมาณการไทยเที่ยวไทยในเฉพาะช่วงสงกรานต์ปี 59 ว่ามีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ต่อปี โดยมีการใช้จ่ายประมาณ 7,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ทั้งนี้ ในปี 59 ททท. วางเป้าหมายว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท เป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.5 ล้านล้านบาท และรายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศ 8 แสนล้านบาท
2. ธ.ออมสิน เผยดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากโดยรวม เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 44.9
  • ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index : GSI) เดือนเม.ย.59 ว่า อยู่ที่ระดับ 44.9 ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากโดยรวมยังต่ำกว่าระดับปกติที่ 50 สะท้อนว่าประชาชนในระดับฐานรากยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่มากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากในเดือน เม.ย 59 ปรับลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน เม.ย. 59 ซึ่งปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 61.5 ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 58 อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากโดยมีการออกมาตรการสนับสนุนได้แก่ (1) โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยการสนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนหม่บ้านและชุมชนเมือง และ (2) โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โดยสนับสนุนเงินทุนให้แก่หมู่บ้าน หมู่บ้านละไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งทั้งสองมาตรการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข้มแข็งและยั่งยืนมากขึ้น
3. ญี่ปุ่นเผย GDP ไตรมาส 1/2559 ขยายตัวร้อยละ 1.7 (annualized rate)
  • รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/59 ขยายตัวร้อยละ 1.7 (annualized rate) หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อไตรมาส
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 1/59 ขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับ ไตรมาสก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้น บ่งชี้จากยอดค้าปลีกช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1/59 ที่ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ การส่งออกบริการยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาญี่ปุ่นในไตรมาส 1/59 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 39.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายภาคส่วน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 0.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.6 - 1.0) เนื่องจากความเสียหายจากแผ่นดินไหวเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 59 จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อบูรณะและซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้น กอปรกับการบริโภคภายในประเทศที่อาจเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี 59 หากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 8.0 สู่ร้อยละ 10.0 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน เม.ย. 60 ทั้งนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อทั้งอุปสงค์ในประเทศและดุลการค้าเนื่องจากญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ