รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 27, 2016 10:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2559

Summary:

1. ธปท. ชี้จีนปรับลดหยวนไม่กระทบเงินบาท

2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.9

3. ราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

1. ธปท. ชี้จีนปรับลดหยวนไม่กระทบเงินบาท
  • นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 59 ธนาคารกลางจีนปรับลดค่ากลางเงินหยวนมาอยู่ที่ 6.5693 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นการอ่อนค่าลงร้อยละ 0.3 จากวันก่อนหน้า และถือเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทและตลาดเงินของไทย เนื่องจากเป็นการปรับตามแนวโน้มของค่าเงินในภูมิภาค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดค่ากลางเงินหยวนนั้นเป็นไปแนวโน้มของเงินในภูมิภาคที่อ่อนค่า เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเร็วกว่าที่คาด อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 59 ธนาคารกลางสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ณ วันที่ 26-27 เม.ย. 59 ซึ่งบ่งชี้ว่าที่ประชุม FOMC อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 ทำให้ตลาดเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์สหรัฐฯ เพื่อรอรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า และส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง ดังนั้นจึงคาดว่าการปรับลดค่ากลางของเงินหยวนจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากนัก โดย ณ วันที่ 26 พ.ค. 59 ค่าเงินบาทปิดที่ 35.616 อ่อนค่าลงร้อยละ 1.3 จากเดือนก่อน ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท (คำนวณโดย สศค.) อยู่ที่ 99.65 จุด อ่อนค่าลงเพียงร้อยละ 0.04 จากเดือนก่อน
2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.9
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์แถลงดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า จากการผลิตสินค้าบางหมวดที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น อาทิ สิ่งทอ ยาและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ขนส่ง เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ในเดือนดังกล่าวที่ขยายตัวในอัตราเร่ง สะท้อนสัญญาณกิจกรรมภาคการผลิตในสิงคโปร์ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และมีทิศทางสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออก (ไม่รวมน้ำมัน) ในเดือนเดียวกันที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -4.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 49.8 จุด ซึ่งแม้จะอยู่ต่ำกว่า 50 จุด แต่ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม กิจกรรมภาคการผลิตยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสิงคโปร์ จากสัดส่วนถึงร้อยละ 17.8 ของ GDP ปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 ยังคงชะลอลงเล็กน้อยจากปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59)
3. ราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์แตะระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยแตะระดับสูงสุดที่ 50.51 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสารสนเทศ ด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ณ วันที่ 20 พ.ค. 59 ที่ปรับลดลงกว่า 4.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด โดยเป็นผลจากสถานการณ์ไฟป่าในแคนาดาส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง และอุปสงค์ปรับตัวดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีความคึกคักมากขึ้น โดยนอกจากจะเป็นผลดีต่อกลุ่มธุรกิจพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังจะเป็นผลดีกับการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรด้วย ทั้งนี้ ตลาดตอบรับข่าวการปรับขึ้นราคาน้ำมันค่อนข้างดี สะท้อนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานปรับตัวดีขึ้น โดย ณ วันที่ 26 พ.ค. 59 ดัชนีหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงานของตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 จากวันก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันและพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อและอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนต่อไปได้ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน เม.ย. 59 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 59 ในส่วนของดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากความกังวลเรื่องการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย ทั้งนี้ ระหว่างวันราคาน้ำมันปรับลดลงเล็กน้อยและปิดตลาดที่ 49.71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ