รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 1, 2016 14:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2559

Summary:

1. IMD ให้อันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยขึ้นสู่อันดับ 28

2. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เม.ย.59 ขยายตัวร้อยละ 1.54

3. เยอรมนีเผยดัชนี CPI เดือนพ.ค. 59 ดีดขึ้นร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. IMD ให้อันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยขึ้นสู่อันดับ 28
  • สถาบัน IMD World Competitiveness Center (IMD) ซึ่งเป็นโรงเรียนธุรกิจชื่อดังของสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยรายงานประจำปี ว่าด้วยขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก (World Competitiveness Yearbook) ปรากฏว่า สหรัฐได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่อันดับ 3 ของโลก ต่ำกว่าฮ่องกงที่เบียดขึ้นครองอันดับ 1 ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 28
  • สศค. วิเคราะห์ว่า International Institute for Management Development หรือ IMD ได้ทำการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกประจำปี 2559 โดยประเมินจาก 4 เกณฑ์ชี้วัดของ IMD ประกอบด้วย 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการจัดอันดับล่าสุด ฮ่องกงขึ้นเป็นอันดับ 1 ขณะที่ สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 2 และสหรัฐ อันดับ 3 อย่างไรก็ดี ขีดความสามารถทางการแข่งขันของเอเชียในภาพรวม กลับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ตามราคาสินค้าในตลาดโลก และความเปราะบางของอุปสงค์โลก ทั้งนี้ IMD ได้จัดอันดับขีดความสามารถในปี 2559 โดยไทยขึ้นสู่อันดับ 28 ดีขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนที่ไทยอยู่อันดับ 30 จากการได้อันดับดีขึ้นในหมวดประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นสำคัญ ทำให้ไทยเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน ตามหลัง สิงคโปร์ อันดับ 4 (ลดดลงจากอันดับ 3 ปี 58) และมาเลเซีย อันดับ 19 (ลดลงจากอันดับ 14 ปี 58) สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม และความเข็มแข็งของภาคเอกชนไทย ประกอบกับการดำเนินนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้นการปรับเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจได้ทำมาถูกทาง ซึ่งไทยทำได้ดีกว่าและเร็วกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ส่งผลให้ประเทศสามารถได้อันดับดีขึ้นกว่าปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อานิสงค์จากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 (ประมาณการ ณ เดือนเม.ย. 59) จับตา: การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 59
2. สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เม.ย.59 ขยายตัวร้อยละ 1.54
  • ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนเม.ย. 59 อยู่ที่ 99.59 มีอัตราขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ คาดแนวโน้มดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน พ.ค.59 น่าจะยังดี ขณะที่คงเป้าทั้งปี 59 โตร้อยละ 2-3 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะเติบโตที่ ร้อยละ 1.5-2.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย.ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นที่ 2 จากการเพิ่มขึ้นของการผลิตในสาขายานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ปิโตรเลียม และบุรี่ เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายเร่งผลิตรถยนต์ PPV ให้ทันต่อความต้องการของตลาดในประเทศ ขณะที่การผลิตเครื่องปรับอากาศและปิโตรเลียมขยายตัวได้ดีเช่นกันที่ร้อยละ 5.7 และ 5.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการผลิตที่ลดลง เช่น การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปั่นทอ เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ เครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรม หรือ GDPภาคอุตสาหกรรมที่ประกาศโดยสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในไตรมาสแรกของปี 59 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และจากหดตัวของอุตสาหกรรมเบา จำพวกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมสิ่อทอ จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเที่ยบเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จับตา: ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. 59
3. เยอรมนีเผยดัชนี CPI เดือนพ.ค. 59 ดีดขึ้นร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนี เดือนพ.ค. 59 กลับมาอยู่ที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 0.1 ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าเช่าและบริการอื่นๆ ขณะที่ราคาพลังงานยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิเคราะห์ว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี ยังถือได้ว่ายังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ระดับร้อยละ 2 นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี สะท้อนจาก GDP ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาส 4 ปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 และยอดค้าปลีกของเยอรมนีในช่วง 4 เดือนแรกปี 59 อยู่ที่ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (เนื่องจากเศรษฐกิจเยอรมนี มีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป) ในไตรมาสที่ 1 ปี 59 ขยายตัวในต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า ปรับทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจสหภาพยุโรป จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.59 จับตา: อัตราการทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป และเศรษฐกิจเยอรมนีในไตรมาส 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ