รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 14, 2016 15:10 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2559

Summary:

1. รมว. พาณิชย์ เชิญชวนนักลงทุนเนเธอร์แลนด์ ให้เข้ามาลงทุนในไทย

2. พาณิชย์คาดครึ่งปีหลังส่งออกไทยฟื้น หลังเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว

3. จีนเผยการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 5 เดือนแรก ปี 59 ขยายตัวเพียงร้อยละ 7

1. รมว. พาณิชย์ เชิญชวนนักลงทุนเนเธอร์แลนด์ ให้เข้ามาลงทุนในไทย
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ได้มีการหารือกับนายกาเริล โยฮันเนิส ฮาร์โตค เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย โดยได้เชิญชวนนักลงทุนเนเธอร์แลนด์ให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้งใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนและเอเชีย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและการเกษตรที่เนเธอร์แลนด์มีความชำนาญ โดยเฉพาะด้านการจัดการน้ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลในปี 58 พบว่า จำนวนยอดคงค้างการลงทุนโดยตรงของเนเธอร์แลนด์ในประเทศไทยมีถึง 11,941.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของยอดคงค้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด และยังถือเป็นประเทศอันดับที่ 4 ที่มียอดคงค้างด้านการลงทุนโดยตรงสูงสุด รองจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ในด้านการค้าระหว่างประเทศ พบว่าเนเธอแลนด์เป็นคู้ค้าที่มีความสำคัญพอสมควร โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังเนเธอแลนด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0 ของการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นอันดับที่ 14 ของคู่ค้าไทยทั้งหมด (ข้อมูลปี 58) ซึ่งจากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศเนเธอแลนด์ทั้งในด้านการค้าและการลงทุนต่อประเทศไทย ดังนั้น หากมีความร่วมมือเพิ่มเติม ย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ไทยสามารถได้รับประโยชน์จากความชำนาญของ เนเธอแลนด์โดยตรง
2. พาณิชย์คาดครึ่งปีหลังส่งออกไทยฟื้น หลังเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว
  • นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกจากนี้ไปคาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นและจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559 เป็นต้นไป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจยุโรปเริ่มทรงตัว และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ดีขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ลดลงไปมากก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ประเทศที่ส่งออกน้ำมันมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกในปี 59 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -0.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง -0.4) คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59 โดยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักสำคัญของไทย จะยังคงเป็นไปอย่างเปราะบาง จึงเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้ไม่สามารถเพิ่มขึ้นมากนัก นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ กอปรกับปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคการส่งออกของไทย จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 59 นี้ ทั้งนี้ จากข้อมูลการส่งออกของไทยล่าสุดในเดือน เม.ย. 59 มีมูลค่าทั้งสิ้น 15,545 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -8.0 ทำให้การส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปี 59 หดตัวแล้วที่ร้อยละ -1.2 ซึ่งสศค. มองว่าแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงมีทิศทางหดตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามเศรษฐกิจโลกว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลกว่าจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเพียงระยะสั้นเท่านั้น
3. จีนเผยการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 5 เดือนแรก ปี 59 ขยายตัวเพียงร้อยละ 7
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยข้อมูลว่า การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วง 5 เดือนแรกปี 59 ขยายตัวเพียงร้อยละ 7 ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกปี 59 ที่ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 7.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนในช่วง 5 เดือนแรกปี 59 ที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง เนื่องจากอุปสงค์ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนตัวจากภาวะเศรษฐกิจของจีนที่ยังคงชะลอตัว และอุปทานที่ยังมีจำนวนมาก รวมถึงการลงทุนที่ชะลอตัวลง ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นแรงสนับสนุนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อัตราการขยายตัว (GDP) ในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับมูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค.59 ที่หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไว้ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ เม.ย. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ