รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 - 17 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2016 13:45 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.2
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี
  • ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.1 ต่อ
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดขายรถยนต์ในประเทศของฟิลิปปินส์ เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 31.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักร เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม
  • อัตราการว่างงานของออสเตรเลีย เดือน พ.ค. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 5.74 ของกำลังแรงงานรวม
  • มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซีย เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -9.8

Indicator next week

Indicators           Forecast   Previous
May : MPI  (%YOY)      -0.8       1.5
  • ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้ไม่ปรับตัวลดลงมากนัก
Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 36.8 ล้านคน ลดลง 7.6 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ยังส่งผลให้การเพาะปลูกพืชที่สำคัญ อาทิ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ยางพาราและอ้อยลดลง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขาการก่อสร้าง สาขาการผลิต สาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เนื่องจากมีช่วงวันหยุดยาวทำให้มีความต้องการแรงงานในสาขานี้ค่อนข้างสูง ในทางตรงกันข้าม สาขาการขายส่งและขายปลีก และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า มีอัตราการจ้างงานที่ลดลง ทั้งนี้ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.5 แสนคน

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ค. 59 มีจำนวน 2.48 ล้านคน ขยายตัวที่ร้อยละ 7.6 ต่อปี และขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจาก จีน อินเดีย รัสเซีย และกลุ่มประเทศ CLM (กัมพูชา ลาว พม่า) ที่ขยายตัวร้อยละ 10.5 16.7 35.0 และ 20.7 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ส่งผลให้ 5 เดือนแรกปี 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 14.16 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.9 ต่อปี สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศแล้วประมาณ 6.03 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน พ.ค. 59 หดตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี แต่เมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกแล้ว พบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อเดือน ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังคงรอดูความชัดเจนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ และผู้ประกอบการคาดหวังว่า ตลาดปูนจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังของปี 59 เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐน่าจะสามารถเริ่มลงทุนได้จริงในไตรมาสที่ 3 และ 4

Economic Indicator: Next Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 59 คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมให้ไม่ปรับตัวลดลงมากนัก

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ที่ประชุม FOMC เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี จากตลาดแรงงานที่ชะลอความร้อนแรงลง และความเสี่ยง Brexit ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากรถยนต์และอาหารที่ชะลอลง และร้านขายสินค้าทั่วไปที่หดตัวอีกครั้งในรอบ 4 เดือน แต่หากขจัดผลทางฤดูกาลจะขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อน ด้านผลผลิตภาค อุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่อง 9 เดือน จากเชื้อเพลิง เครื่องมือเครื่องจักร และสินค้าวัตถุดิบที่หดตัว อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน โดยเป็นผลจากราคาอาหาร นันทนาการ การศึกษา และราคาน้ำมันที่ลดลง

China: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 15 ปี

Japan: worsening economic trend

เมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.1 ต่อปี ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 59 หดตัวร้อยละ -3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าเกือบทุกหมวดที่หดตัว ยกเว้นอาหารและยาสูบ โลหะที่มิใช่เหล็ก และเคมีภัณฑ์

Eurozone: improving economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อน จากการผลิตสินค้าคงทนที่เร่งขึ้น

Philippines: improving economic trend

ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 31.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากยอดขายรถเชิงพาณิชย์ประเภทเอเชียยูทิลิตี้ (7 ที่นั่ง)ที่เร่งตัว

United Kingdom: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.1 ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยดัชนีราคาผู้บริโภคหดตัวในหมวดอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ด้านยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 59 ขยายตัวร้อยละ 6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลับมาหดตัวร้อยละ -0.9 (ขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายในเกือบทุกหมวดสินค้าลดลง โดยมีเพียงยอดขายอาหารและเสื้อผ้าที่ขยายตัวจากเดือนก่อน

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 5.74 ของกำลังแรงงานรวม โดยอัตราการมีส่วนร่าวมของแรงงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 65.0 ต่อวัยแรงงานรวม

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -9.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่อเนื่อง 20 เดือน จากสินค้าทุกประเภท โดยเฉพาะเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรที่หดตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -4.1 หดตัวต่อเนื่อง 20 เดือนเช่นกัน ทั้งนี้ การส่งออกที่สูงกว่านำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.8 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -3.4 จากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม นาฬิกาและเครื่องประดับ อุปกรณ์สื่อสาร และคอมพิวเดอร์ ที่หดตัวต่อเนื่อง

India: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -13.2 หดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ การส่งออกที่น้อยกว่านำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาเป็นบวกเป็นเดือนที่ 2 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น

South Korea: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ค. 59 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.7 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

Malaysia: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. 59 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากดัชนีราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงต้นสัปดาห์ และกลับมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในวันที่ 16 มิ.ย. 59 โดยดัชนีฯ ปิดที่ 1,411.19 จุด โดยทั้งสัปดาห์มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 48,371 ล้านบาท โดยดัชนีฯ ที่ปรับลดลงมากเป็นผลมาจาก 1) แรงขายทำกำไรจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนชาวต่างชาติ 2) ความกังวลต่อการลงประชามติกรณีสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) หลังจากประธาน Fed กล่าวหลังการประชุม FOMC เมือวันที่ 14-15 มิ.ย. 59 ว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ไว้ที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปีได้พิจารณาประเด็น Brexit ร่วมด้วย และ 3) ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 16 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 580.6 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราฯ ระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-14 bps จากการประมูลพันธบัตรรุ่น Benchmark อายุ 5 ปี และ 20 ปี ที่มีนักลงทุนสนใจ 3.32 และ 1.50 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ และการขายพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 13 - 16 มิ.ย. 59 นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิ 337.7 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลง โดย ณ วันที่ 16 มิ.ย. 59 เงินบาทปิดที่ 35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.22 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค ยกเว้นเยน เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.66 ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ