รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 6, 2016 13:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดว่าเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 3 แต่อัตราดอกเบี้ยยังคงคงที่

2. กกร.ลดเป้าส่งออกปีนี้คาดมีโอกาสติดลบร้อยละ 2 จากเดิมโตที่ร้อยละ 0-2

3. ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย.ของเยอรมนีอ่อนตัวลงสู่ระดับ 53.7

1. ธนาคารกรุงศรีอยุธยาคาดว่าเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 3 แต่อัตราดอกเบี้ยยังคงคงที่
  • นายตรรก บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่ด้าน Global Market ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 3 โดยจะมาจากปัจจัยบวกด้านการลงทุนภาครัฐ ผลักดันให้เอกชนเริ่มลงทุนตามมากขึ้น และราคาน้ำมันดิบโลกรวมถึงอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ส่วนธนาคารพาณิชย์คงไม่มีแนวคิดการขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 59 เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกมาจาก การส่งออกบริการโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกในปี 59 รายได้จากการเยี่ยมเยือนของนักท่องเที่ยว (ที่รวมทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) ขยายตัวถึงร้อยละ 13.9 ต่อปี ประกอบกับ การใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดนเฉพาะการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 59 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่ำกว่าคาด ซึ่งอาจมีผลต่อการภาคการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 3.3 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 59 มีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.5 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จับตา: เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 59
2. กกร.ลดเป้าส่งออกปีนี้คาดมีโอกาสติดลบร้อยละ 2 จากเดิมโตที่ร้อยละ 0-2
  • นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ที่ประชุม กกร. เห็นควรปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออกในปี 59 ลงมาเป็นร้อยละ -2 ถึงร้อยละ 0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0-2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 เดือนแรก ของปี 59 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ -1.9 ต่อปี ตามการส่งออกที่ลดลงในหลายตลาด แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดอาเซียน-5 เวียดนาม และทวีปออสเตรเลีย สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การส่งออกในกลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ทองคำ อุตสาหกรรมเกษตร และยานพาหนะยังขยายตัวได้ สำหรับผลกระทบจาก Brexit ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก การดำเนินการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปยัง สหราชอาณาจักรมีสัดส่วนร้อยละ 1.8 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ปี 59 มูลค่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลงร้อยละ -0.7 (คาดการณ์ ณ เดือนเม.ย 59) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนก.ค. นี้ จับตา: การดำเนินการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร
3. ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนมิ.ย.ของเยอรมนีอ่อนตัวลงสู่ระดับ 53.7
  • ผลสำรวจของมาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ในเดือนมิ.ย.ของเยอรมนี ปรับตัวลงสู่ระดับ 53.7 จากระดับ 55.2 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ขณะที่ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมิ.ย.ของเยอรมนีปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 จากระดับ 54.5 จากเดือนก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ของภาคบริการนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผล มาจากภาคธุรกิจและคำสั่งซื้อในภาคบริการที่ปรับตัวลดลง แต่ดัชนีดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับ 50.0 บ่งชี้ว่าภาคบริการของเยอรมนียังคงอยู่ในภาวะขยายตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซน เนื่องจาก เศรษฐกิจเยอรมนีมีสัดส่วนร้อยละ 28.3 ของยูโรโซน และในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เศรษฐกิจยูโรโซน ยังคงขยายตัว ได้ดี สะท้อนจาก GDP ไตรมาส 1 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อปี และหากขจัดผลทางฤดูกาลออกขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยูโรโซน ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และกรณี Brexit ของสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซน ในปี 59 จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.5 (ประมาณการ ณ เดือน เม.ย.59) จับตา: การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน ไตรมาส 2 ปี 59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ