รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 22, 2016 14:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 59 ลดลงแตะระดับ 85.3 จุด

2. ยอดตั้งโรงงานช่วง 6 เดือนแรกปี 59 มีจำนวน 2,420 โรง คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.3 แสนล้านบาท

3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 59 ลดลงแตะระดับ 85.3 จุด
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 85.3 จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 จุดในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่ ลดลงเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยปัจจัยที่ยังส่งผลต่อความกังวลของผู้ประกอบการ ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีความเปราะบาง ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนภายหลังผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่กลับมาปรับลดลงในเดือนดังกล่าวสะท้อนถึงความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการประกอบกัน อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานและการลงทุนภาคเอกชนล่าสุดยังคงมีสัญญาณดีต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน เม.ย.-พ.ค. 59 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เดือน เม.ย.-พ.ค. 59 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 19.5 ขณะที่ยอดขายปูนซีเมนต์และเหล็กในช่วงเดียวกันยังคงหดตัวเล็กน้อย ทั้งนี้ หากดูผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าพบว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและกลับมาเข้าใกล้ระดับ 100 จุด โดยในเดือน มิ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 99.8 จุด เพิ่มจากระดับ 98.7 จุดในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ถึงความมั่นใจของผู้ประกอบการต่อภาพรวมเศรษฐกิจในอีกระยะ 3 เดือนข้างหน้าที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการที่สหรัฐฯ เลื่อนอันดับการแก้ไขปัญหาด้านการค้ามนุษย์ของไทยจากกลุ่ม 3 (Tier 3) ขึ้นมาเป็น กลุ่ม 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าในภาคประมงของไทยในระยะต่อไป รวมทั้งความสัมพันธ์ด้านการค้า-การลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอีกด้วย
2. ยอดตั้งโรงงาน 6 เดือนแรกปี 59 มีจำนวน 2,420 โรง คิดเป็นมูลค่าลงทุน 2.3 แสนล้านบาท
  • นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยสถิติการขอตั้งโรงงานและขยายโรงงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 59 ว่ามีจำนวน 2,420 โรง โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2.3 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 9.7 หมื่นตำแหน่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของ กรอ. พบว่า จำนวนการขอตั้งโรงงานและขยายโรงงานมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมียอดอยู่ที่ 2,468 โรง คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2.4 แสนล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างงาน 8.6 หมื่นตำแหน่ง โดยหากพิจารณามิติของประเภทอุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการได้ให้การตอบสนองกับนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 13 ก.ค. 59 มีการอนุมัติประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ รวมเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 8.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเป็นกำลังหลักของภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม (ณ ราคาคงที่) มีสัดส่วนร้อยละ 28.1 ของ GDP และในไตรมาสที่ 1 ปี 59 หดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
3. ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรไว้ที่ร้อยละ 6.50 และร้อยละ 5.25 ต่อปี ตามลำดับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นจำนวน 4 ครั้งในปี 59 โดยเหตุผลในการคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นผลมาจากที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังสามารถคงเสถียรภาพด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อได้ดี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 59 และวันที่ 16 มิ.ย. 59 เป็นปัจจัยเอื้อให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวได้ดีขึ้น จึงคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 59 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1 ปี 59 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.9 จากปีก่อนหน้า โดยมีอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน ซึ่งอัตราเงินเฟ้ออินโดนีเซียเฉลี่ยในไตรมาส 2 ปี 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยในไตรมาสที่ 2 ปี 59 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 51.1 จุด บ่งชี้การขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 49.4 จุดในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 5.2 (คาดการณ์ ณ เดือน เม.ย. 59) และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ