รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 25, 2016 13:17 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2559

Summary:

1. ประธาน สรท. มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังชะลอตัวต่อเนื่อง คาดทั้งปีโตร้อยละ 3

2. อุตสาหกรรมข้าวไทยในตลาดฮ่องกง

3. จีนเผยผลผลิตน้ำมันดิบปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 ในครึ่งปีแรก เหตุราคาน้ำมันร่วง

1. ประธาน สรท. มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังชะลอตัวต่อเนื่อง คาดทั้งปีโตร้อยละ 3
  • ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลังว่าจะยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจากต่างประเทศที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อาศัยการอัดฉีดงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐ และการดึงนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนเป็นหลัก ทั้งนี้ สรท. ยังคงเป้าอัตราการขยายตัวของไทยไว้ที่ร้อยละ 3 เช่นเดิม แต่ทั้งนี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะต้องไม่ทรุดตัวไปมากกว่านี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจพบว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และอาจส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ภาคเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากประสบปัญหาหลากหลายในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะเรื่องภัยแล้งที่ปัจจุบันสถานการณ์ได้ปรับตัวดีขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงต่อไป เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงสำคัญในภาคการส่งออกสินค้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงทรงตัว ประกอบกับเหตุการณ์ Brexit ได้ส่งผลต่อความกังวลของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. จะมีการประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. นี้ โดยประมาณการล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.3
2. อุตสาหกรรมข้าวไทยในตลาดฮ่องกง
  • นายเคนเน็ธ เฉิน (Kenneth Chan) ประธานสมาคมพ่อค้าข้าวในฮ่องกง กล่าวว่า ปัจจุบันฮ่องกงนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหลัก และคนฮ่องกงส่วนใหญ่นิยมชมชอบการบริโภคข้าวไทย เนื่องจากมีกลิ่นหอมและคุณภาพดี แม้ว่าปัจจุบันอัตราการบริโภคข้าวต่อหัวมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักที่สำคัญของคนฮ่องกงอยู่เสมอ ซึ่งนายเฉินเชื่อมั่นว่า คนฮ่องกงส่วนใหญ่จะยังคงนิยมบริโภคข้าวไทยและข้าวไทยจะครองตลาดข้าวในฮ่องกงต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการส่งออกข้าวในปี 58 มูลค่าการส่งออกข้าวทั้งสิ้น 4,612.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -15.2 โดยตลาดหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน (ขยายตัวที่ร้อยละ 24.9) สหรัฐฯ (หดตัวที่ร้อยละ -8.0) ฟิลิปปินส์ (ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 110.7) เบนิน (หดตัวที่ร้อยละ -38.6) และไนจีเรีย (หดตัวที่ร้อยละ -53.0) ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปยังฮ่องกงเป็นอันดับที่ 9 โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 177.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อเนื่องจากปี 57 ที่หดตัวร้อยละ -3.3 ซึ่งในปี 58 ฮ่องกงมีสัดส่วนการนำเข้าข้าวจากไทยสูงถึงร้อยละ 55.5 โดยในปัจจุบันคนฮ่องกงเริ่มใส่ใจกับอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น กอปรกับไทยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวใหม่ๆ อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และข้าวเกษตรอินทรีย์ จึงตอบสนองต่อความต้องการของคนฮ่องกงที่ต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพ ข้าวไทยจึงยังครองตลาดในฮ่องกงได้เป็นอย่างดี
3. จีนเผยผลผลิตน้ำมันดิบปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 ในครึ่งปีแรก เหตุราคาน้ำมันร่วง
  • คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เปิดเผยว่า ผลผลิตน้ำมันดิบของจีนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8 สู่ระดับ 100.45 ล้านบาร์เรลในครึ่งแรกของปี เมื่อเทียบกับปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุให้แท่นการผลิตมีการปรับลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากบางส่วนอาจไม่คุ้มทุนที่จะผลิตต่อไป ทั้งนี้ NDRC ระบุว่า บริษัทชิโนเปค ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของจีน ได้ปรับลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 7.5 ในปีนี้ ในขณะที่บริษัทปิโตรไชน่า ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุด ได้ตั้งเป้าลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 4.8 ขณะที่หน่วยงานกลางด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) ณ เดือน ก.ค. คาดการณ์การใช้พลังงานปิโตรเลียมของจีนว่าจะมากขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.4 ซึ่งจากสองปัจจัยดังกล่าว คือ การผลิตน้ำมันที่ลดลง และปริมาณการใช้น้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ การคาดการณ์น้ำมันดิบดูไบของ สศค. ล่าสุด ณ เม.ย. 59 คาดว่าน้ำมันดิบดูไบในปี 59 จะอยู่ที่ 35.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับข้อมูลปัจจุบันมากที่สุดในสิ้นเดือน ก.ค. นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ