รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 19, 2016 14:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2559

Summary:

1. บาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน

2. ผู้บริโภคกลุ่ม CLMV เชื่อมั่นคุณภาพและภาพลักษณ์สินค้าไทยสูงสุด

3. ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรในเดือน ก.ค. ขยายตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน

1. บาทแข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน

นางสาวปารีณา พ่วงศิริ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่าเมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าสูงสุดถึง 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 13 เดือน โดยเงินบาทอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หลังการทำประชามติของสหราชอาณาจักรในประเด็นสมาชิกสภาพของสหภาพยุโรป ( Brexit) ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่อง

สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อ 16 ส.ค. 59 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 34.595 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันได้แข็งค่าแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักจาก 1) GDP สหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่าคาด ที่เพียงร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน อีกทั้งทางการสหรัฐฯ ปรับปรุงตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก ทำให้ในครึ่งแรกปี 59 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 จึงทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วๆ นี้ 2) ความไม่แน่นอนจากกรณี Brexit บวกกับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ในยุโรปที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียที่เศรษฐกิจยังขยายตัวดีและให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่า โดยตั้งแต่ 24 มิ.ย. 59-17 ส.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยถึง 7.6 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรอายุเกิน 1 ปีของไทยถึง 2.3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทในช่วงดังกล่าวแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 2.1 อย่างไรก็ตาม เงินบาทยังไม่ใช่สกุลเงินที่แข็งค่าเร็วสุดในช่วงดังกล่าว โดยสกุลเงินที่แข็งค่าในอัตราที่มากกว่าได้แก่เงินวอน (ร้อยละ 4.9) ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ร้อยละ 3.8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 3.2) ริงกิต (ร้อยละ 2.8) และเยน (ร้อยละ 2.3) นอกจากนี้ หลังจากที่ผู้ว่าการ Fed สาขานิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์ว่า Fed อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย. 59 ทำให้เงินบาทและเงินสกุลภูมิภาคเริ่มอ่อนค่าลงบ้าง

2. ผู้บริโภคกลุ่ม CLMV เชื่อมั่นคุณภาพและภาพลักษณ์สินค้าไทยสูงสุด

นายสันติพงศ์ พิมลแสงสุริยา ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทฮาวาสริเวอร์ออคิด ผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสารการตลาดในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เปิดเผยผลการวิจัยผู้บริโภคในกลุ่ม CLMV ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อแหล่งที่มา ภาพลักษณ์ และคุณภาพของสินค้าจากไทยและประเทศอื่นๆ ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ด้วยกลุ่มตัวอย่างจากกลุ่ม CLMV รวม 2,016 คนนั้น ในภาพรวม สินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค CLMV ในระดับสูงทุกด้าน เช่น ในกัมพูชา ลาว และเมียนมา ผู้บริโภคให้ระดับความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยสูงเทียบเท่ากับคุณภาพของสินค้าญี่ปุ่น เป็นต้น

สศค. วิเคราะห์ว่า ความนิยมของผู้บริโภคกลุ่ม CLMV ต่อสินค้าของไทย สะท้อนจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยปี 55-58 การส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV มีสัดส่วนถึงร้อยละ 8.8 ของมูลค่าส่งออกรวม ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังยูโรโซน และยังขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 9.7 ต่อปี สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV ในสัดส่วนที่สูงได้แก่ เครื่องดื่ม (สัดส่วนร้อยละ 4.6 ของการส่งออกไป CLMV ปี 55-58) น้ำตาลทราย (ร้อยละ 2.5) และเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (ร้อยละ 2.5) ซึ่งเศรษฐกิจ CLMV ที่ยังคงพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนในระดับสูง เฉลี่ยประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ประกอบกับความนิยมในคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าจากไทยจะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าหมวดนี้ไปยังกลุ่ม CLMV อีกด้วย

3. ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรในเดือน ก.ค. 59 ขยายตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน

สำนักงานสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักรประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. 59 โดยขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือน มิ.ย. 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายของธุรกิจค้าปลีกแบบไม่มีหน้าร้านซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นหลัก

สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในเดือน ก.ค. 59 ภายหลังการทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ยังคงส่งสัญญาณผสม ซึ่งแม้ว่าการขยายตัวของยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค. 59 จะดีขึ้นจากเดือนก่อน และสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านอุปทานของสหราชอาณาจักรยังคงส่งสัญญาณชะลอตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง และภาคบริการ ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 จุดทั้งหมด บ่งชี้การหดตัวของกิจกรรมในภาคการผลิต จึงจำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.1 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ