รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 23, 2016 13:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2559

Summary:

1. BOI เผยช่วง 7 เดือนแรกปี 59 กลุ่มการแพทย์ลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท

2. EXIM BANK ชี้บาทแข็งไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ฉุดส่งออก

3. IMF เตือนเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงขยายตัวช้าลง

1. BOI เผยช่วง 7 เดือนแรกปี 59 กลุ่มการแพทย์ลงทุนกว่า 5 พันล้านบาท
  • เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีอุตสาหกรรมการแพทย์ลงทุนในไทยแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท มั่นใจจะเป็นแรงผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพในภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ช่วง 7 เดือนแรกของปี 59 มีอุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาล เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทซึ่งมูลค่าการลงทุนดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 252 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทางด้านการแพทย์ โดยอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการทางการแพทย์ สอดคล้องกับนโยบายการมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ (Medical Hub) หากประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางบริการและอุตสาหกรรมทางการแพทย์อย่างครบวงจรได้นั้น ก็จะส่งผลให้การจ้างงานทางด้านการแพทย์ของประเทศไทยให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านบริการทางการแพทย์ จากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการจ้างงานทางด้านบริการของประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 59 จนถึงปัจจุบันนั้นขยายตัวร้อยละ 1.9
2. EXIM BANK ชี้บาทแข็งไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ฉุดส่งออก
  • EXIM BANK ระบุว่า ปัจจุบันเงินบาทที่แข็งค่าสุดในรอบ 1 ปี หรือแข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 4 นับตั้งแต่ต้นปี 59 กำลังเป็นประเด็นร้อน ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าหลังประเทศมหาอำนาจหลายแห่ง อาทิ ยุโรป ญี่ปุ่น อังกฤษใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ และอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้น้อยกว่าคาด ทำให้มีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากผลประชามติในการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (Brexit) ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปโดยรวม ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้าจำนวนมากสู่ประเทศที่มีผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงประเทศไทย สังเกตได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออก คาดว่าผลของค่าเงินบาทต่อการส่งออกมีผลค่อนข้างจำกัด เนื่องจากหากเทียบกับค่าเงินต่างๆ ที่เป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าสำคัญด้านการส่งออก พบว่ามีการแข็งค่าใกล้เคียงกัน โดย สศค. คาดว่าทั้งปี 59 ค่าเงินบาทเฉลี่ยจะอยู่ที่ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออก (ตามระบบดุลการชำระเงิน) ในปี 59 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 1.9 (ประมาณการ ณ เดือน ก.ค. 59)
3. IMF เตือนเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงขยายตัวช้าลง
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงเป็นเวลานานาน เนื่องจากผลิตภาพการผลิตชะลอตัวลง และจำนวนชนชั้นกลางที่ปรับตัวลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ข้อมูลล่าสุดไตรมาสที่ 2 ปี 59 พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 หลังจากที่ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 0.8 ซึ่งนับว่าเป็นการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.0 เป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นผลมาจากความท้าทายทายระยะยาวที่จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเป้าหมายการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความเติบโตของสหรัฐ ได้แก่ แรงงานและกลุ่มชนชั้นกลางที่หดตัวลง โดยแรงงานสหรัฐเป็นจำนวนมากกำลังก้าวเข้าสู่การเกษียณอายุ ส่งผลให้ผลิตภาพเติบโตไม่เพียงพอ ส่วนตลาดแรงงานและภาคธุรกิจมีศักยภาพลดลงในการจัดสรรทุนมนุษย์และทุนกายภาพประกอบกับการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนการเข้าร่วมแรงงาน การชะลอตัวลงของผลิตภาพ ปัญหาการการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง และจำนวนคนยากจนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของสหรัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ