รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 กันยายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 2, 2016 13:15 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 กันยายน 2559

Summary:

1. พาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. 59 เป็นบวกเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

2. ครม. สหราชอาณาจักรประชุมเรื่อง Brexit

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 59 บ่งชี้การหดตัวเป็นเดือนที่ 6

1. พาณิชย์เผย อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. 59 เป็นบวกเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
  • นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 106.64 จุด ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และเมื่อหักรายการสินค้าอาหารสดและพลังงานออก พบว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ส.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 59 ไว้ที่ร้อยละ 0.0-1.0 ภายใต้สมมุติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 2.8-3.8 และได้มีการปรับสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นเป็น 35-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปรับสมมุติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค. 59 ที่เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในรายละเอียด ราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ราคาไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.4 นอกจากนี้ ราคาหมวดยาสูบและแอลกอฮอล์ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1 และหมวดการรักษาและบริการส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ส่วนราคาหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงถึงร้อยละ -6.0 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59 ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และการปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบของกระทรวงพาณิชย์ ที่ 35-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ยังสอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ ณ เดือน ก.ค. 59 ของ สศค. ที่ให้ไว้ที่ช่วงคาดการณ์ที่ 38-44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกด้วย
2. ครม. สหราชอาณาจักรประชุมเรื่อง Brexit
  • เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นำการประชุมคณะรัฐมนตรีฯ ว่าด้วยการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งในการประชุม ครม. ต่างเห็นด้วยกับความจำเป็นในการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการเจรจาเรื่อง Brexit กับสหภาพยุโรป โดยประเด็นหลักในการหารือได้รวมถึงเรื่องการควบคุมผู้อพยพจากสหภาพยุโรปและการหาแนวทางในการเจรจาด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องส่งผลดีต่อสกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้าน Brexit อย่างเป็นทางการจะยังไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การประชุมดังกล่าวอาจทำให้ทิศทางและจุดยืนการเจรจากับสหภาพยุโรปมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร สำหรับด้านเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจล่าสุดของสหราชอาณาจักรในเดือนส.ค. 59 เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.3 จุด จากระดับ 48.2 จุดในเดือนกรกฎาคม 59 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -7.0 จุด สูงกว่าในเดือน ก.ค. 59 ที่อยู่ที่ระดับ -12.0 จุด อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงอยู่ในแดนลบ บ่งชี้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวล ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ส.ค. 59 บ่งชี้การหดตัวเป็นเดือนที่ 6
  • Markit เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในเดือน ส.ค. 59 โดยอยู่ที่ระดับ 49.5 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 49.3 จุดในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีฯ ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนอุปสงค์จากต่างประเทศต่อสินค้าส่งออกญี่ปุ่นที่ยังคงชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีนเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีฯ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ 50 จุดอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงกิจกรรมภาคการผลิตในญี่ปุ่นที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่หดตัว โดยในเดือน ก.ค. 59 หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -14.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งคาดว่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 59 น่าจะหดตัวเช่นเดียวกัน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกช่วง 10 วันแรกของเดือน ส.ค. 59 ที่หดตัวร้อยละ -5.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สัญญาณเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้านอุปสงค์ในประเทศยังคงชะลอตัว สะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับมุมมองผู้บริโภคที่ยังคงมีความกังวลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ บ่งชี้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 59 ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 41.6 จุด อย่างไรก็ดี เงินเยนที่เริ่มกลับมามีทิศทางอ่อนค่าลงเล็กน้อยในระยะหลัง อาจมีส่วนช่วยความได้เปรียบด้านราคาสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นให้ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับมาตรการทางการเงินและการคลังที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาในระยะนี้ จะทำให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีส่วนช่วยในการขยายตัวต่อไปได้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ