รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 13, 2016 13:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2559

Summary:

1. พาณิชย์ เดินหน้ายกระดับ OTOP ไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั้งในและตปท.

2. เฟดชี้กรรมการบางส่วนกังวลหากชะลอขึ้นดอกเบี้ยนานไปจะส่งผลให้ ศก. ถดถอย

3. โอเปกผลิตน้ำมันสูงสุดรอบ 8 ปี ใน เดือน ก.ย. 59

1. พาณิชย์ เดินหน้ายกระดับ OTOP ไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั้งในและตปท.
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ขานรับนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอปของไทย ให้มีความเข้มแข็งเป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในระดับประเทศและสากล โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดทุกระดับอย่างยั่งยืนให้แก่กลุ่มสินค้าและผู้ประกอบการ OTOP Select ที่ผ่านการคัดสรรโอทอประดับ 3 - 5 ดาว และมีศักยภาพเข้าสู่ตลาดในประเทศ/ต่างประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การนำเอกลักษณ์เฉพาะตัวและประสบการณ์ของแต่ละชุมชนมาช่วยเสริมสร้างเสน่ห์ สร้างคุณค่า และความประทับใจให้แก่ผลิตภัณฑ์โอทอป จะก่อให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจในตัวผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าโอทอปไทย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นที่จะช่วยสนับสนุนจุดขายที่โดดเด่นของสินค้าให้มีความแตกต่าง และทำให้ผลิตภัณฑ์โอทอปไทยสามารถแข่งขันได้เป็นอย่างดีในตลาดโลก ทั้งนี้ การส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้คำปรึกษาแนะนำและผลักดันด้านการตลาดอย่างใกล้ชิดแก่ผู้ประกอบการโอทอปที่กระจายอยู่ทั่วประเทศจะเป็นรากฐานสำคัญในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาโอทอปของประเทศไทยให้ก้าวสู้การเป็น "โอทอปพรีเมี่ยม" อย่างเต็มตัว สามารถส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นสินค้าส่งออกของไทยได้ในอนาคต
2. เฟดชี้กรรมการบางส่วนกังวลหากชะลอขึ้นดอกเบี้ยนานไปจะส่งผลให้ ศก. ถดถอย
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ประจำเดือน ก.ย. 59 โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีความวิตกว่าการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นเวลานานเกินไป จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะพิจารณาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนได้จากตัวชี้วัดสำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงาน ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อในช่วง 9 เดือนแรกของสหรัฐ อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคต และจากการประชุมรอบเดือน ก.ย. 59 การสนับสนุนให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น แต่ยังต้องรอดูสถานการณ์ด้านนโยบายของคณะกรรมการเฟดในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ sentiment ของตลาดในปัจจุบัน ให้ความเห็นว่า เฟดน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งยังเหลือการประชุมอีก 2 รอบ ได้แก่ รอบเดือน พ.ย. และ ธ.ค
3. โอเปกผลิตน้ำมันสูงสุดรอบ 8 ปี ใน เดือน ก.ย. 59
  • กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือน ต.ค.59 โดยระบุว่า โอเปกมีการผลิตน้ำมัน 33.39 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน ก.ย. 59 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 ปี โดยเพิ่มขึ้น 220,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 59 ทั้งนี้ โอเปกเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือน ก.ย. 59 แม้ในการประชุมวันที่ 28 ก.ย. 59 ที่แอลจีเรีย โอเปกมีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงสู่ระดับ 32.5-33.0 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ระดับ 33.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกในปีหน้า ว่าอยู่ที่ระดับ 240,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 40,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยได้แรงหนุนจากการผลิตน้ำมันในรัสเซีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 59 ส่วนใหญ่มาจากลิเบีย ไนจีเรีย และอิรัก ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า ในการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในวันที่ 30 พ.ย. 59 กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีแนวโน้มปรับลดการผลิต หลังจากประธานาธิบดีรัสเซียได้กล่าวในที่ประชุมพลังงานโลก (World Energy Congress) ที่ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า รัสเซียพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการจำกัดเพดานการผลิตน้ำมัน พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายอื่นๆ ดำเนินตามเช่นกัน ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59 ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 59 อยู่ระหว่าง 38.0 - 44.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ