รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 ธันวาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 26, 2016 13:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 87.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.5
  • วันที่ 21 ธ.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 59 มีจำนวน 2.45 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.36 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 26 เดือน นับจากเดือน ก.ย. 57
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 59 ของสหรัฐฯ (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.7
  • การส่งออกของสหภาพยุโรป เดือน ต.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.6 ขณะที่การนำเข้าเดือน ต.ค. 59 หดตัวร้อยละ -3.3
  • มูลค่าส่งออกของญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -0.4 ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวร้อยละ -8.8
  • ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักร เดือน พ.ย. 59 ขยายตัว ร้อยละ 5.9
  • มูลค่าการส่งออกของสิงคโปร์ เดือน พ.ย. ขยายตัวร้อยละ 8.2 ขณะที่มุลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.4
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน พ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.0 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -12.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นผลจากการหดตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญเป็นหลัก โดยเฉพาะ ข้าวเปลือก ที่มีการลดพื้นที่การเพาะปลูก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่หมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในขณะที่หมวดปศุสัตว์และหมวดประมง ยังมีผลผลิตขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -2.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.3 เป็นการขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 3.9) และหมวดประมง (ร้อยละ 8.2) โดยเฉพาะราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่มีการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 49.3 และ 29.9 ตามลำดับ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรก ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 87.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 86.5 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 20 เดือน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคาดหวังของผู้ประกอบการต่อมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นยอดขายในหลายอุตสาหกรรมในช่วงสิ้นปี ทำให้มีการผลิตเพื่อรองรับบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

Economic Indicators: This Week

วันที่ 21 ธ.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเดิมต่อเนื่องมากกว่า 1 ปีครึ่งติดต่อกัน โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ก่อนหน้า แม้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ และคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในไตรมาสแรกของปี 60 และภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน พ.ย. 59 มีจำนวน 2.45 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.36 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 26 เดือน นับจากเดือน ก.ย. 57 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีน (ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 26.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 58) มีเดินทางเข้าไทยที่ลดลง โดยในเดือน พ.ย. 59 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีการหดตัวร้อยละ -29.7 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือน ต.ค. 59 ที่มีการหดตัวร้อยละ -16.2 ต่อปีส่งผลให้ 11 เดือนแรกปี 59 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งสิ้น 29.53 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 9.78 ต่อปี สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศ 1.48 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 13.5 ต่อปี คิดเป็นการใช้จ่ายต่อคนต่อครั้งที่ 50,112 บาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 58 ที่อยู่ที่ 48,696 บาทต่อคนต่อครั้ง

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) มากกว่าที่ได้ประกาศไว้เดิม ทำให้ GDP ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.5 อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เดือน พ.ย. 59 บ้านมือสองขยายตัวดี ขณะที่บ้านใหม่ส่งสัญญาณหดตัว โดยยอดขายบ้านมือสองอยู่ที่ 415,000 หลัง เร่งขึ้นจากยอดขายบ้านทุกประเภท ราคาบ้านมือสองอยู่ที่ 234,900 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากบ้านทุกประเภทเช่นกัน แต่ยอดสร้างบ้านใหม่กลับมาหดตัวร้อยละ -18.7 จากเดือนก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) จากยอดขายบ้านทุกประเภทที่หดตัว สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ที่หดตัวร้อยละ -4.7 จากเดือนก่อน จากยอดในอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่หดตัว

Eurozone: worsening economic trend

การส่งออกเดือน ต.ค. 59 หดตัวร้อยละ -4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัวลงร้อยละ -6.1 การนำเข้าเดือน ต.ค. 59 หดตัวร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเดือน ต.ค. 59 เกินดุลที่ 20.1 ล้านยูโร ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 54.9 จุด สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า จากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง ทำให้ยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซือภาคบริการ เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 53.1 จุด ต่ำสุดในรอบ 2 เดือน ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 53.9 จุด สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 59 อยู่ที่ระดับ -5.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 59 ที่อยู่ที่ระดับ -6.2 จุด

Japan: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน พ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกไปอาเซียนและจีนที่กลับมาขยายตัว ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -8.8 จากสินค้าหมวดยานพาหนะ ที่หดตัวในอัตราชะลอลง ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1.5 แสนล้านเยน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 59 ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี สำหรับเงินสำรองส่วนเกินที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น พร้อมยังคงเป้าหมายการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 80 ล้านล้านเยนต่อปีเพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีอยู่ใกล้ระดับร้อยละ 0

UK: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 59 ธนาคารกลางอังกฤษประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี นอกจากนี้ยังได้คงเป้าหมายรวมของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ 435 พันล้านปอนด์

India: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 8.2 ในเดือนก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 10.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 8.0 ในเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้า เดือน พ.ย. 59 ขาดดุล 1.3 หมื่นล้านรูปี

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ใกล้เคียงกับ ร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อนหน้า

Taiwan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ใกล้เคียงกับ ร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 59 ธนาคารกลางไต้หวันคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.375 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5

Indonesia: worsening economic trend

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 59 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 4.75 ต่อปี

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.4 จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 59 ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเท่ากับเดือนก่อนหน้า

Philippines: worsening economic trend

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 59 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี

Singapore: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.2 นับเป็นการขยายตัวมากที่สุดในรอบปี โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และอื่นๆ ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 โดยการนำเข้าสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง และเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 1.1 และ 30.2 ตามลำดับ ทำให้ดุลการค้า เกินดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.02 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 เร่งขึ้นจากสินค้าในหมวดอาหาร การดูแลสุขภาพ และของใช้เบ็ดเตล็ด และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 เร่งขึ้นจากผลผลิตในหมวดโลหะ ยาและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และหมวดอื่นๆ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงตลอดทั้งสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 22 ธ.ค. 59 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,504.12 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์เบาบางเพียง 34,771 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนชาวต่างชาติ เนื่องจากความกังวลต่อความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ เหตุการณ์ลอบยิงทูตรัสเซียที่ตุรกี และเหตุการณ์ที่อาจเป็นการก่อการร้ายในเยอรมนี เป็นต้น โดยในสัปดาห์นี้ตลาดยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนใดๆ แม้ว่าจะแรงซื้อ LTF และ RMF ตามฤดูกาลแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 ธ.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 4,098.13 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้น 1-14 bps โดยเป็นผลมาจากเงินทุนไหลออกสุทธิในช่วงวันที่ 20-22 ธ.ค. 59 กว่า 5,300 ล้านบาท โดยผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่น Benchmark อายุ 50 ปีมีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเพียง 0.63 เท่าของวงเงินประมูล และที่ประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 59 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 ธ.ค. 59 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากพันธบัตรสุทธิ 294.49 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 22 ธ.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 36.02 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.85 จากสัปดาห์ก่อน เป็นไปในทิศทางเดียวเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคทั้งหมด ยกเว้นยูโรที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินสกุลภูมิภาคโดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.51 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ