รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20 - 24 กุมภาพันธ์ 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2017 15:34 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 20,228 คัน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 23.5 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 37,026 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 3.2 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.5
  • GDP ในปี 59 ของอังกฤษ (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ขยายตัวร้อยละ 2.0
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 59 ของฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.พ. 60 ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ในปี 59 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 58 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 58 ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 สำหรับด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรมกลับมาขยายตัวได้ ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว อาทิ การค้าส่งค้าปลีก และการคมนาคมขนส่งขยายตัวได้ต่อเนื่อง

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 3.8) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ 1.9) และหมวดประมง (ร้อยละ 3.2) โดยในหมวดพืชผลสำคัญ ขยายตัวในเกือบทุกสินค้า ยกเว้น ข้าวเปลือกที่ผลผลิตหดตัวร้อยละ -9.9 จากการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยขยายตัวได้ในหมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 21.4) จากยางพาราเป็นสำคัญ โดยปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และหมวดประมง (ร้อยละ 16.5) ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาในหมวดปศุสัตว์หดตัว (ร้อยละ -4.9) ตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ถูกลง

Economic Indicators: This Week

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 20,228 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 23.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.4 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวกหลังจากหดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน เนื่องจากปัจจัยฐานที่ต่ำจากการชะลอการซื้อรถยนต์หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในช่วงต้นปี 59

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 37,026 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปีและคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อเดือนหลังจัดผลทางฤดูกาล ตามการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค. 60 มีจำนวน 3.2 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.69 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากทุกกลุ่มภูมิภาค ยกเว้นกลุ่มโอเชเนียที่มีการหดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวรายประเทศที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย ฮ่องกง อินเดีย และยุโรปตะวันออกเป็นหลัก โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.5 27.4 44.6 17.5 และ 23.8 ต่อปี ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 88.5 เป็นการปรับลดลงครั้งแรก หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน โดยเป็นผลของความกังวลของผู้ประกอบการต่อนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของยอดคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.0 ในเดือน ธ.ค.59 เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 59 จากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคภายในประเทศ และการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการ

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เดือน ม.ค.60 ยังคงมีสัญญาณผสม โดยเมื่อพิจารณาตลาดบ้านมือสอง แม้ยอดขายบ้ายมือสองจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากทั้งยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดที่ขยายตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ตามราคากลางบ้านมือสองกลับลดลงร้อยละ -1.9 จากเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) จากราคาบ้านเดี่ยวและคอนโดที่ลดลง ขณะที่ตลาดบ้านใหม่มีสัญญาณผสม บ่งชีจากยอดสร้างบ้านใหม่เดือนเดียวกันที่หดตัวร้อยละ -2.6 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากการหดตัวของยอดสร้างทาวน์โฮมหลังจากที่เร่งตัวผิดปกติในเดือนก่อนหน้าเป็นหลัก ขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่เดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 4.6 จากเดือนก่อน จากยอดสร้างคอนโดมิเนียมที่ขยายตัวสูง

Eurozone: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 60 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ -6.2 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -4.7 จุดขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 60 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 55.5 จุด สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า เช่นเดียวกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน ก.พ. 60 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 55.6 จุด สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน ก.พ. 60 (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.0 จุด สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า เนื่องจากมียอดการจองและการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมถึงยอดสั่งซื้อเพื่อการส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง

Japan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวได้ดี มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 60 ขาดดุลครังแรกในรอบ 5 เดือน ที่ 1.1 พันล้านเยน ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 60 (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 53.5 จุด สูงที่สุดในรอบ 35 เดือน

UK: worsening economic trend

GDP ในปี 59 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงจากตัวเลขเบื้องต้นที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 โดยที่ GDP ในไตรมาส 1 - 4 ของปี 59 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 1.7 2.0 และ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ด้านยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่ยอดค้าปลีกในหมวดเชื้อเพลิงหดตัวมากที่สุดในเดือน ม.ค. 60 ที่ร้อยละ -6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Hong Kong: improving economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจาก ร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนเป็นแหล่งที่มาการขยายตัวถึงร้อยละ 2.1 และการส่งออกเป็นแหล่งที่มาการขยายตัวถึงร้อยละ 9.2 ในขณะที่การลงทุนเป็นแหล่งที่มีการขยายตัวร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม แหล่งที่มาจากการนำเข้ามีขนาดถึงร้อยละ 10.2 จึงทำให้ในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ทังปี 59 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในปีก่อนหน้าและเป็นอัตราการขยายตัวรายปีที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ด้านอัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน สะท้อนตลาดแรงงานที่มีเสถียรภาพนอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.2 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลจากราคาสินค้าหมวดอาหารที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาการคมนาคมขนส่งและบริการต่างที่ขยายตัวเร่งขึ้น

South Korea: improving economic trend

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดือน ก.พ. 60 ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

Taiwan: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 60 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 แต่ชะลอลงจากร้อยละ 6.2 ในเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตหมวดเหมืองแร่ที่หดตัวต่อเนื่องและผลผลิตหมวด อุตสาหกรรการผลิตที่ขยายตัวชะลอลง

Singapore: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทีอยู่ที่ร้อยละ 0.2 และเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 57 จากราคาหมวดคมนาคมขนส่ง สื่อสาร และการศึกษาที่เร่งขึ้น ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงมากจากเดือนก่อน จากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติก

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดตั้งแต่เดือน ก.พ. 59 จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร เครื่องดื่มและการคมนาคมขนส่ง ที่เร่งตัวขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 23 ก.พ. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,567.32 จุด หลังตลอดสัปดาห์ดัชนีฯ แกว่งตัวในกรอบแคบที่ต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 43,940.87 ล้านบาท จากแรงขายของนักลงทุนทั่วไปในประเทศ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ในขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุกต่างชาติเข้าซื้อ ทั้งนี้ นักลงทุนมีความกังวลจากการที่ Fed ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ ตลอดจนประเด็นแผนปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ โดยระหว่างวันที่ 20 - 23 ก.พ. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 44.12 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-3 bps สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยตั๋วเงินคลังอายุ 28 วันมีผู้สนใจประมูลเพียง 0.83 เท่าของวงเงินประมูล ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีมีผู้สนใจประมูลถึง 1.75 เท่าของวงเงินประมูล โดยในระหว่างวันที่ 20 - 23 ก.พ. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจาตลาดพันธบัตรสุทธิ -2,574.43 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากพันธบัตรที่ครบกำหนดไถ่ถอน

เงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 23 ก.พ. 60 เงินบาทปิดที่ 34.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.01 จากสัปดาห์ก่อน เช่นเดียวกับเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเช่นกัน ตามดัชนีดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงร้อยละ -0.74 ในขณะที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อย จึงส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นีค่อนข้างทรงตัว โดยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.03 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ