รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 27, 2017 15:04 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 3.0 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับลดลงจากระดับ 87.2 ในเดือนก่อนหน้า
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 26,702 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 49.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีของก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 41,733 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกของสหภาพยุโรปเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 17.4 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 590 ล้านยูโร
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.2 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 8.1 แสนล้านเยน
  • อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 3.0 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.2 ต่อปีและหดตัวร้อยละ -7.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งเนื่องจากเป็นปัจจัยฐานเหลื่อมเดือนจากปีก่อนที่ช่วงเทศกาลตรุษจีนอยู่ในเดือน ก.พ. 59 ขณะที่ช่วงเทศกาลตรุษจีนในปีนี้อยู่ในเดือน ม.ค. 60 โดยส่วนใหญ่เป็นการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาจากจีน และมาเลเซีย เป็นหลัก ขณะที่นักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ลาว อินเดียเกาหลี และยุโรปตะวันออกยังคงขยายตัวได้ดี

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.8 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 10.0 ตามการขยายตัวของผลผลิตข้าวเปลือก ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล เป็นหลัก หมวดปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.9 และหมวดประมง ที่สะท้อนได้จาก ผลผลิตกุ้งขาว แวนนาไม ที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 โดยขยายตัวได้ในหมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ 18.1) โดยเฉพาะ จากราคายางพารา และราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และหมวดประมง (ร้อยละ 14.4) ตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาในหมวดปศุสัตว์หดตัว (ร้อยละ -6.6) ตามต้นทุนราคาอาหารสัตว์ที่ถูกลง ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวได้ร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับลดลงจากระดับ 87.2 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับลดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อหลังจากสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในช่วงปลายปี 59 กอปรกับความกังวลต่อแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทของผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนสภาพคล่อง และภาวการณ์แข่งขันและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกไม่มีความกังวล เนื่องจากภาวการณ์ส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.4 ในเดือน ม.ค. 60 จากแรงขับเคลื่อนของภาคการส่งออก และการใช้จ่ายของภาครัฐ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 26,702 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 49.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีของก่อน ขยายตัวต่อเนื่อง จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล อันเป็นผลจากการที่ค่ายรถยนต์ได้แนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยฐานที่ต่ำจากการชะลอการซื้อรถยนต์หลังมีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในช่วงต้นปี 59

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 60 มีจำนวน 41,733 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปีและคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตัน ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อเดือนหลังขจัดผลทางฤดูกาล

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 โดยการผลิตสินค้าคงทนขยายตัวดีที่ร้อยละ 3.1 ขณะที่การผลิตสินค้าไม่คงทนโดยเฉพาะในหมวดเชื้อเพลิงหดตัว ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว จากยอดสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมที่ขยายตัวดีขณะที่ยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่เดือนเดียวกันหดตัวร้อยละ -6.2 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากยอดใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -26.9 หลังจากที่เร่งตัวมากในเดือนก่อนหน้า ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ 4.89 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายคอนโดมิเนียมที่หดตัวร้อยละ -2.6 ขณะที่ราคากลางบ้านมือสองอยู่ที่ 2.28 แสนดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า ผลจากราคาบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้น

Eurozone: mixed signal

การส่งออกเดือน ม.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 4 ปีกว่าจากการส่งออกหมวดสินแร่ เชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 68.4 ด้านการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 17.4 สูงสุดในรอบ 5 ปีกว่า จากหมวดสินแร่และเชื้อเพลิงเช่นกัน ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 590 ล้านยูโร และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -5.0 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -6.2 จุด

Japan: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อน จากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 28.2 หลังการผลิตกลับมาเปิดดำเนินการหลังวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีน ในส่วนของมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 8.4 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 60 เกินดุล 8.1 แสนล้านเยน กลับมาเกินดุลอีกครั้งหลังขาดดุลกว่า 1.1 ล้านล้านเยน ในเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 60 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 52.6 จุด จาก 53.3 จุด ในเดือนก่อน

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหาร หมวดคมนาคมขนส่ง และหมวดโรงแรมและร้านอาหารที่ขยายตัวเร่งขึ้น

Hong Kong: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี จากราคาสินค้าเกือบทุกหมวดที่ชะลอตัวลง เช่น ดัชนีราคาอาหารขยายตัวร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาอาหารในปีก่อนสูงผิดปกติจากภาวะอากาศหนาวจัดทำให้ผลผลิตน้อย ประกอบกับดัชนีราคาค่าใช้ไฟฟ้า สินค้าคงทน และเสื้อผ้าที่หดตัวต่อเนื่อง และดัชนีราคาหมวดการบริการทั่วไปที่เริ่มกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี

Taiwan: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 60 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในส่วนของผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 10.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องได้เป็นเดือนที่ 7 ยอดค้าส่งค้าปลีก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวร้อยละ -1.1 ในเดือนก่อน จากยอดค้าส่งที่ขยายตัวดีวันที่ 23 มี.ค. 60 ธนาคารกลางไต้หวันมีมติคงอัตราดอกเบียนโยบาย เดือน ก.พ. 60 ต่ำเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ร้อยละ 1.375 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8

Philippines: mixed signal

วันที่ 24 มี.ค. 60 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบียนโยบายไว้ทีร้อยละ 3.0 ต่อปี

Singapore: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 0.6 เนื่องจากดัชนีราคาหมวดการคมนาคมขนส่งและการสื่อสารขยายตัวเร่งขึ้น ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นอย่างมากจากเดือนก่อนหน้าจากสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มและหมวดสิ่งทอที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 26.6 และ 15.3 ตามลำดับ

UK: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 3 ปีกว่า โดยที่ราคาในหมวดคมนาคมและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 6.9 และ 5.5 ตามลำดับ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแกว่งตัวในช่วงขาขึ้น โดย ณ วันที่ 23 มี.ค. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,568.72 จุด เนื่องจากมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติที่หวังทำกำไรระยะสั้นในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคตลอดสัปดาห์ แต่ยังมีแรงขายทำกำไรเป็นระยะ ทำให้ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นผ่านแนวต้านค่าเฉลี่ยเก้าสัปดาห์ที่แนว 1,570 จุดได้ ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยบวกชัดเจนจากต่างประเทศ หลังสภาผู้แทนสหรัฐฯ เลื่อนการลงมติประเด็นกฎหมายประกันสุขภาพสำหรับชาวอเมริกันออกไป และการแถลงของนางเยลเลน ประธาน Fed ไม่ได้มีนัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 60 โดยระหว่างวันที่ 20 - 23 มี.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 2,715.38 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรส่วนใหญ่ปรับลดลงโดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสันปรับลดลง 1-2 bps สอดคล้องกับทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ไทยและตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค หลังก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับสู่สินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วงก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed โดยในระหว่างวันที่ 20 - 23 มี.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรสุทธิ 11,135.14 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ณ วันที่ 23 มี.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 34.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.19 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลหลักในภูมิภาคซึ่งแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 1.76 และวอนที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.96 จากดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี แข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 0.72 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ