รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 6, 2018 16:32 —กระทรวงการคลัง

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 คิดเป็นร้อยละ 40.88 ของ GDP โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องและวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งรวมถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีการชำระคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง โดยรายการชำระหนี้ที่สำคัญคือการชำระคืนหนี้ในประเทศของรัฐบาลก่อนครบกำหนด วงเงิน 10,383 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ยอดหนี้คงค้างลดลง และเป็นการลดภาระดอกเบี้ยในอนาคต ที่ต้องจ่ายจากเงินงบประมาณของประเทศได้ประมาณ 260 ล้านบาท

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 มีจำนวน 6,557,290.60 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.88 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 5,251,290.17 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 922,047.84 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน* (รัฐบาลค้ำประกัน) 375,133.92 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 8,818.67 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

หนี้รัฐบาล จำนวน 5,251,290.17 ล้านบาท มีรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของหนี้รัฐบาล ดังนี้

การกู้เงินภายใต้แผนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 เพิ่มขึ้น 23,200 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยนำไปลงทุนในการพัฒนาประเทศสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

การชำระคืนหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ จำนวน 10,383 ล้านบาท

การชำระคืนหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จำนวน 1,381 ล้านบาท

การกู้เพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพิ่มขึ้น 2,205.79 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการกู้ให้กู้ต่อแก่ (1) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,205.10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน (2) การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 945.12 ล้านบาท เพื่อจัดทำ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร และโครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และ (3) การเคหะแห่งชาติเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 55.57 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ทั้งนี้ เมื่อโครงการต่างๆ แล้วเสร็จคาดการณ์ว่าจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ

โครงการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการเบิกจ่าย เมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 15.72 % ของมูลค่าการลงทุนของโครงการ จากการเพิ่มประสิทธิภาพ ของการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาการเดินทาง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดอุบุติเหตุบนท้องถนน และเป็นทางเลือกใหม่ในการเดินทางของประชาชน โครงการลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อแล้วเสร็จจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 15.13 % ของมูลค่าการลงทุนของโครงการ และประโยชน์ที่สังคมได้รับ ได้แก่ การประหยัดค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ประหยัดเวลาของผู้ใช้ยานพาหนะ ลดความเสียหายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม

หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,233.83 ล้านบาท จากการเบิกจ่ายและชำระคืนเงินกู้สกุลต่างๆ การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 922,047.84 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก

หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 28.15 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 3,131.22 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 375,133.92 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,272.85 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากหนี้ที่ลดลงของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 8,818.67 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 19.34 ล้านบาท เนื่องจากหนี้ที่ลดลงของสำนักงานธนานุเคราะห์

          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 6,557,290.60 ล้านบาท แบ่งออกเป็น   หนี้ในประเทศ 6,300,573.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.09 และหนี้ต่างประเทศ 256,717.56 ล้านบาท (ประมาณ 7,719.46 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือร้อยละ 3.91 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และหนี้สาธารณะ        คงค้างแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,672,526.27 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.51 และหนี้ระยะสั้น 884,764.33 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.49 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

คณะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 02 265 8050 ต่อ 5520

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ขอรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ดังนี้

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 มีจำนวน 6,557,290.60 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.88 ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 25,780.97 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. หนี้รัฐบาล 5,251,290.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 23,968.09 ล้านบาท

2. หนี้รัฐวิสาหกิจ 922,047.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 3,103.07 ล้านบาท

3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน* (รัฐบาลค้ำประกัน) 375,133.92 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 1,270.85 ล้านบาท

4. หนี้หน่วยงานของรัฐ 8,818.67 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 19.34 ล้านบาท

ทั้งนี้ สัดส่วนและรายละเอียดของหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ปรากฏตามแผนภาพที่ 1 และตารางที่ 1 ตามลำดับ

1. หนี้รัฐบาล

1.1 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 23,968.09 ล้านบาท เนื่องจาก

1.1.1 หนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,233.83 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเบิกจ่าย และชำระคืนหนี้เงินกู้สกุลเงินเยน และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต วงเงิน 2,669 ล้านเยน โดยวิธี Cross Currency Swap ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 2

หากพิจารณาในรูปเงินบาท หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงจำแนกเป็นสกุลเงินต่างๆ หลังจากที่ได้บริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนแล้วมีรายละเอียดปรากฏตามแผนภาพที่ 2

1.1.2 หนี้ในประเทศ เพิ่มขึ้นสุทธิ 22,734.26 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจาก

เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 21,909.47 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • เงินกู้ระยะสั้น เพิ่มขึ้นสุทธิ 9,092 ล้านบาท เนื่องจากการแปลงตั๋วเงินคลังเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อการบริหารหนี้ และการลดลงของตั๋วเงินคลัง
  • เงินกู้ระยะยาว เพิ่มขึ้นสุทธิ 12,817.47 ล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 23,200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาล 18,200 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ 5,000 ล้านบาท รวมถึงการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน 10,382.53 ล้านบาท

การชำระเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จำนวน 1,381 ล้านบาท

  • เงินกู้ให้กู้ต่อเพิ่มขึ้น 2,205.79 ล้านบาท เนื่องจาก
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 1,205.10 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจำนวน 569.54 ล้านบาท สายสีเขียวจำนวน 355.91 ล้านบาท สายสีน้ำเงินจำนวน 279.65 ล้านบาท
  • การรถไฟแห่งประเทศไทยเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 945.12 ล้านบาท เพื่อจัดทำ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น จำนวน 672.38 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย จำนวน 149.97 ล้านบาท โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต จำนวน 98.12 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ จำนวน 10.81 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร จำนวน 8.86 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางคู่ ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ จำนวน 4.98 ล้านบาท
  • การเคหะแห่งชาติเบิกจ่ายเงินกู้จำนวน 55.57 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการอาคารพักอาศัยแปลง G ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง

1.2 หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า

2. หนี้รัฐวิสาหกิจ

2.1 หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน

2.1.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงสุทธิ 886.74 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 3

2.1.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 858.59 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เกิดจากหนี้ที่เพิ่มขึ้นสุทธิของการรถไฟแห่งประเทศไทย 1,100 ล้านบาท และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 630 ล้านบาท และ หนี้ที่ลดลงสุทธิของการเคหะแห่งชาติ 800 ล้านบาท

2.2 หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน

2.2.1 หนี้ต่างประเทศ ลดลงสุทธิ 21.76 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 4

2.2.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 3,152.98 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เกิดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกพันธบัตร 3,000 ล้านบาท

3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน)

3.1 หนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 1.15 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ดังรายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 5

3.2 หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 1,272 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระคืนต้นเงินกู้ทั้งจำนวน

หากพิจารณาในรูปเงินบาท หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ และรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) หลังจากได้บริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว มีรายละเอียดปรากฏตามแผนภาพที่ 3

4. หนี้หน่วยงานของรัฐ ลดลงสุทธิ 19.34 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากสำนักงานธนานุเคราะห์เบิกจ่ายเงินกู้ 0.66 ล้านบาท และ ชำระคืนต้นเงินกู้ 20 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 จำนวน 6,557,290.60 ล้านบาท สามารถแบ่งประเภทเป็นหนี้ต่างประเทศ-หนี้ในประเทศ และหนี้ระยะยาว-หนี้ระยะสั้นได้ ดังนี้

หนี้ต่างประเทศและหนี้ในประเทศ แบ่งออกเป็น หนี้ต่างประเทศ 256,717.56 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.91 และหนี้ในประเทศ 6,300,573.04 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.09 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 6

หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น (แบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน) แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาว 6,394,333.67 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.51 และหนี้ระยะสั้น 162,956.93 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.49 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 7
  • หนี้ระยะยาวและหนี้ระยะสั้น (แบ่งตามอายุคงเหลือ) แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาว 5,672,526.27 ล้านบาท หรือร้อยละ 86.51 และหนี้ระยะสั้น 884,764.33 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.49 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 8

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดสัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะไว้ โดยผลจากการบริหารหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 สัดส่วนต่างๆ อยู่ภายใต้กรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 9

ที่มา: กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ