รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 10 - 14 กันยายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 17, 2018 14:59 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 61 คิดเป็น 1.75 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาส 2 ปี 61 (ตัวเลขปรับปรุง) ของญี่ปุ่น ขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 61 ทรงตัว อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงาน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของจีนในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของจีนในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปในเดือน ก.ค. 61 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค. 61 คิดเป็น 1.75 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทำให้ 8 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัว ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่งเวลาเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้น 2.01 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดบริการทางธุรกิจและวิชาการ การศึกษาและสุขภาพ และการก่อสร้าง ที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.3 5.3 และ 2.3 หมื่นตำแหน่ง ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน ส.ค. 61 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 62.7 ของประชากรวัยแรงงาน ส่งผลให้อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 61 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงาน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาหมวดเครื่องแต่งกาย นันทนาการ บริการทางการแพทย์ และการคมนาคมขนส่งที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Japan: improving economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 61 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการบริโภคและการลงทุนขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 0.2 และ 3.7 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตหมวดชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.9

China: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.1 โดยราคาสินค้าหมวดอาหารและยาสูบปรับตัวสูงขึ้นผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.0 ในเดือนก่อนหน้าจากผลผลิตหมวดเหมืองแร่และหมวดสาธารณูปโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากยอดขายหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ขยายตัวเร่งขึ้น

UK: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอลงขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินแร่และน้ำมันดิบที่เร่งตัวขึ้นส่งให้ขาดดุลการค้าในเดือน ก.ค. 61 ที่ 1.0 หมื่นล้านปอนด์ อัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 61 ธนาคารกลางอังกฤษคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี และยังคงมูลค่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ 4.4 แสนล้านปอนด์

India: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเหมืองแร่ที่ขยายตัวชะลอลง

Australia: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางานเต็มเวลาและ Part Time เพิ่มขึ้น

South Korea: worsening economic trend

อัตราว่างงานเดือน ส.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8

Hong Kong: improving economic trend

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 2 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ขยายตัวสูงสุดตั้งแต่ปี 57 จากผลผลิตหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ และหมวดเครื่องนุ่งห่มขยายตัวเร่งขึ้น

Eurozone: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากภาคการผลิตที่ขยายตัวชะลอลง เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 61 ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี โดยจะลดมูลค่าการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนในเดือน ต.ค. 61 และจะสิ้นสุดมาตรการในเดือนธ.ค. 61 นี้

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่หดตัว และการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 31.6 จากการนำเข้าอุปกรณ์ขนส่งและอิเล็กทรอนิกส์ที่เร่งตัวขึ้นมากส่งผลให้ขาดดุลการค้า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดขายหมวดอะไหล่และส่วนประกอบ อาหารและเครื่องดื่มตลอดจนเชื้อเพลิงชะลอตัวลง

Malaysia: improving economic trend

ยอดค้ารวม เดือน ก.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากยอดค้าปลีกและยานยนต์ที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราการว่างงาน เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค. 61 หดตัวร้อยละ -2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนจากยอดขายยานพาหนะที่หดตัว อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 2 ปี 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนปรับสูงขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ CSI300 (จีน) ฮั่งเส็ง(ฮ่องกง) และ STI (สิงคโปร์) โดยดัชนี SET ณ วันที่ 13 ก.ย. 61 ปิดที่ระดับ 1,717.96 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 10-13 ก.ย. 61 ที่ 55,436 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศ นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ เป็นผู้ขายสุทธิ ผลจากท่าทีที่ผ่อนปรนของ รมว. คลังของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะเจรจากับจีนในประเด็นสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการเจรจาดังกล่าวว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-13 ก.ย. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -3,208.80 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในเกือบทุกช่วงอายุปรับตัวเพิ่มขึ้น 0-13 bps โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปีและพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10.44 ปี มีผู้สนใจถึง 3.15 และ 1.33 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 10-13 ก.ย. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 9,757.05 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 13 ก.ย. 61 เงินบาทปิดที่ 32.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.49 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลหลักอื่นๆ เกือบทุกสกุลที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.61

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ