รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 11 - 15 กุมภาพันธ์ 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2019 15:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือนธ.ค. 61 คิดเป็น 1.84 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  • GDP ของมาเลเซีย ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ของญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 61 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ 37.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.2 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า หากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรมีการหดตัวลงที่ร้อยละ -5.5 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 และภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 เช่นกัน สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานทั้งหมด มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.9 แสนคน หดตัวที่ร้อยละ -17.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -17.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ธ.ค. 61 คิดเป็น 1.84 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ม.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 4.8 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอกชน และธนาคารพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์ว่าการลงทุนภาคการก่อสร้างในปี 62 จะยังคงเติบโตต่อเนื่องจากปี 61 โดยเฉพาะโครงการลงทุนภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโต ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่จะยังคงเติบโตได้ดี

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากราคาในหมวดการคมนาคมที่หดตัวร้อยละ -1.3 ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 จากยอดค้าปลีกในหมวดสินค้ากีฬา หนังสือ และเพลง ที่หดตัวถึงร้อยละ -16.3

China: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นถึงร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปขยายตัวถึงร้อยละ 14.5 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกันหดตัวที่ร้อยละ -1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.3 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยราคาอาหารและยาสูบปรับตัวลดลง

Malaysia: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ4.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากการมูลค่าการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นส่งผลให้ทั้งปี 61 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงมากจากปีก่อน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากการผลิตเหมืองแร่ และผลผลิตจากโรงงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงาน เดือน ธ.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ยอดค้าปลีก เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 จากยอดขายยานยนต์ที่ลดลง

UK: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 61 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 61 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากการลงทุนและการส่งออกสุทธิที่ชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -9.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้า จากมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกที่หดตัวมากขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือนเดียวกันขยายตัวร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าทำให้ขาดดุลการค้าในเดือน ธ.ค. 61 ที่ -1.4 หมื่นล้านปอนด์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากหมวดสินค้าไม่คงทนและพลังงานที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากระดับราคาในหมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ลดลง

Japan: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 61 (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -0.04 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครรัฐหดตัวสูงถึงร้อยละ -4.8 ส่งผลให้GDP ทั้งปี 61 ขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอลงจากปีก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 หดตัวที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการหดตัวของน้ำมันและเครื่องจักรกลไฟฟ้าที่ร้อยละ -5.3 และ -3.4 ตามลำดับ

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากทั้งหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ที่หดตัวเพิ่มขึ้น

Taiwan: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.1 โดยราคาหมวดอาหารและบริการปรับตัวสูงขึ้น

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.8

Indonesia: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยยอดขายหมวดอาหารและเครื่องดื่มตลอดจนหมวดเครื่องเขียนและการสื่อสารหดตัวลง มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนมากที่สุดเริ่มฟื้นตัว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 62 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้าใน เดือน ม.ค. 62 ที่ -1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Philippines: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลงเป็นอย่างมากขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ธ.ค. 61 หดตัวร้อยละ -9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่านำเข้าสินค้าหมวดธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืชหดตัวลง ส่งผลให้ขาดดุลการค้าลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่ -3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน ธ.ค. 61 หดตัวที่ร้อยละ -6.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากหมวดสินค้าเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะหมวดสินค้าในห้างสรรพสินค้า ของตกแต่งบ้าน นาฬิกา และเครื่องประดับที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

India: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการผลิตสินค้าทุน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดเชื้อเพลิง และสินค้าอุตสาหกรรมที่ชะลอลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์ และปรับเพิ่มขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) Nikkei 225 (ญี่ปุ่น) และ MSCI (เอเชียแปซิฟิก) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 14 ก.พ. 62 ปิดที่ระดับ 1,652.64 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 11-14 ก.พ. 62 ที่ 41,686 ล้านบาทต่อวัน ด้วยแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามผลการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ว่าจะสามารถหาทางออกที่ประนีประนอมกันได้หรือไม่ในการเจรจาครั้งล่าสุดนี้ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11-14 ก.พ. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -6,214 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นปรับลดลง 1-2 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะกลางและระยะยาวส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น 0-4 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 6 เดือน มีนักลงทุนสนใจถึง 4.92 เท่าของวงเงินประมูล และการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 50 ปี มีนักลงทุนสนใจ 1.75 และ 4.22 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 11-14 ก.พ. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดพันธบัตรสุทธิ -800 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 14 ก.พ. 62 เงินบาทปิดที่ 31.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.31 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลง อาทิ เยน ยูโร วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวน ขณะที่เงินริงกิต แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.12

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ