รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 - 19 เมษายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2019 14:35 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • GDP ของจีน ในไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่น เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ผู้มีงานทำเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.3 แสนคน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหลังหักผลทางฤดูกาลแล้วขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.5 ส่งผลให้ทั้งไตรมาสที่ 1 ปี 2562 ผู้มีงานทำขยายตัวร้อยละ 0.9 และในเดือนมี.ค. 62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้มีงานทำภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.3 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 และภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.5 แสนคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนผู้ว่างงานลดลง 9.4 หมื่นคน

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลผลิตในหมวดเชื้อเพลิงและพลังงานที่ชะลอลงเป็นสำคัญ ด้านมูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดค้าปลีกที่ไม่รวมหมวดยานยนต์และส่วนประกอบที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

China: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าโดยภาคบริการและอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ภาคเกษตรขยายตัวชะลอลง มูลค่าการส่งออกเดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 14.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.2 จากการเร่งขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดหลัก อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่มูลค่านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -7.3 ทำให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 32.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน ม.ค.-มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการลงทุนในหมวดบริการที่เร่งขึ้น ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากช่วงเดียวกันปี.ก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยผลผลิตหมวดการผลิต และสาธารณูปโภคที่เร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

Japan: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากสินค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมและเครื่องจักรกลที่หดตัว ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการนำเข้าสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์ และสินค้าอุตสาหกรรมที่เร่งขึ้น ส่งผลให้ขาดดุลการค้าในเดือน มี.ค. 62 ที่ 5.3 แสนล้านเยน ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 62 หดตัวร้อยละ -1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผลผลิตหมวดโลหะและชิ้นส่วน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไป อาหารและเครื่องดื่ม และเชื้อเพลิงหดตัวลง ขณะที่ยอดขายเครื่องนุ่งห่มและยานยนต์เร่งขึ้น ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 49.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 48.9 จุดจากดัชนีย่อยหมวดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากดัชนีราคาหมวดเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เร่งขึ้น

South Korea: mixed signal

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 62 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6

Eurozone: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารที่ลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้เกินดุลการค้าในเดือน ก.พ. 62 ที่ 1.7 หมื่นล้านยูโร ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 62 (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 47.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.5 จุด แต่ในภาพรวมภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการ เดือนเดียวกัน (เบื้องต้น) อยู่ที่ระดับ 52.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.3 จุดจากธุรกิจใหม่ที่ขยายตัวชะลอลงพร้อมกับคำสั่งซื้อคงค้างที่ปรับลดลง ทำให้ดัชนี PMI รวม เดือน เม.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 51.3 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: worsening economic trend

อัตราการว่างงานเดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ของกำลังแรงงานรวม

UK: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าในระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปีแม้ Brexit ยังมีความไม่แน่นอน อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยระดับราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ค่อนข้างทรงตัว

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -10.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าหมวดเหมืองแร่ที่หดตัวลดลงขณะที่ มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -6.8 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่งผลให้เกินดุลการค้าใน เดือน มี.ค. 62 ที่ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Singapore: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 หดตัวร้อยละ -3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันที่หดตัวขณะที่ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 1.5 จากการนำเข้าอุปกรณ์การขนส่งที่ชะลอลงส่งผลให้เกินดุลการค้าใน เดือน มี.ค. 62 ที่ 3.9 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

Australia: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยจำนวนคนที่หางานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น ขณะที่คนหางาน Part Time ลดลง

India: improving economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 11.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.4 เร่งขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -4.2 ในเดือนก่อนทำให้ดุลการค้า เดือน มี.ค. 62 ขาดดุล 10.9 พันล้านรูปี อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเชื้อเพลิง ขณะที่ราคาสินค้าหมวดแร่หดตัวลง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เช่น DJIA (สหรัฐฯ) DAX (เยอรมนี) และ JCI (อินโดนีเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 18 เม.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1,675.00 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. 62 ที่ 50,161 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการประกาศตัวเลข GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 62 (เบื้องต้น) ในวันที่ 26 เม.ย. 62 (ตามเวลาสหรัฐฯ) และการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน เม.ย. 62 ถึงช่วงเดือน พ.ค. 62 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -1,307 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (อัตราฯ) ระยะสั้นปรับลดลง 0-1 bps ขณะที่อัตราฯ ระยะกลางและระยะยาวส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น 0-6 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 17-18 เม.ย. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -1,606 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 18 เม.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 31.82 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.11 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ อาทิ เยน ยูโร ริงกิต และดอลลาร์สิงคโปร์ ขณะที่เงินวอนและหยวนแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าเงินสกุลหลักอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนค่าลงร้อยละ -0.06

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ