รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 26, 2019 14:42 —กระทรวงการคลัง

“เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่า ในด้านการใช้จ่ายมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิต พบว่า มีการปรับตัวดีขึ้นในภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน บวกกับการขยายตัวได้ต่อเนื่องของภาคการเกษตร ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม ปี 2562 พบว่า “ในด้านการใช้จ่ายมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิต พบว่า มีการปรับตัวดีขึ้นในภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน บวกกับการขยายตัวได้ต่อเนื่องของภาคการเกษตร ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับไปชะลอตัวที่ร้อยละ -1.6 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ชะลอตัวร้อยละ -3.3 ต่อปี ส่วนยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออก และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาชะลอตัวที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์แม้ว่าจะชะลอตัวที่ร้อยละ -9.2 ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างส่งสัญญาณชะลอตัวตามยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงร้อยละ -9.2 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงชะลอตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี การชะลอตัวส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับตัวของนักลงทุนที่ชะลอการลงทุนเนื่องจากไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของสินค้าส่งออกในหมวดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดยานยนต์ อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มผักผลไม้สดแช่แข็ง

และแปรรูป น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -14.6 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนสิงหาคม 2562 เกินดุลที่มูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.47 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.4 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนขยายตัวในอัตราเร่งถึงร้อยละ 18.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่ขยายตัวถึงร้อยละ 32.4 ต่อปี ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวลาว ญี่ปุ่น และมาเลเซีย และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมูลค่ารวม 169,772 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี เช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า การปรับลดลงดังกล่าวมีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท และความกังวลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือนปรับตัวสูงขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานลดลง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.5 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 220.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เอกสารแนบ

“เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่า ในด้านการใช้จ่ายมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิต พบว่า มีการปรับตัวดีขึ้นในภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่กลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน บวกกับการขยายตัวได้ต่อเนื่องของภาคการเกษตร ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป”

1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับไปชะลอตัวที่ร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลก็ยังชะลอตัวที่ร้อยละ -12.7 เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับไปชะลอตัวที่ร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ส่วนยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัวที่ร้อยละ -5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากพิจารณาเฉพาะยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศพบว่าขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องที่ระดับ 60.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออก และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาชะลอตัวที่ร้อยละ -9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลพบว่าชะลอตัวร้อยละ -11.9 อย่างไรก็ตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์แม้ว่าจะชะลอตัวที่ร้อยละ -9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยปรับผลทางฤดูกาลแล้วยังคงชะลอตัวที่ร้อยละ -9.2 ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงร้อยละ -9.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยหักผลทางฤดูกาลแล้วพบว่ายังคงขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงชะลอตัวที่ร้อยละ -12.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การชะลอตัวส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับตัวของนักลงทุนที่ชะลอการลงทุนเนื่องจากไม่มั่นใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ

3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนสิงหาคม 2562 เบิกจ่ายได้จำนวน 168.1 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 158.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 125.2 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 33.0 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 9.9 พันล้านบาท

4. เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ร้อยละ -4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของสินค้าส่งออกในหมวดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดยานยนต์ อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มผักผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 18.4 และ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนสิงหาคม 2562 เกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะพบว่า หลายประเทศมีการส่งออกหดตัวเช่นเดียวกัน โดยภาคการส่งออกของประเทศเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีการหดตัวในระดับสูง

5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2562 มีจำนวน 3.47 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่ขยายตัวถึงร้อยละ 32.4 ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวลาว ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 9.3 และ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมูลค่ารวม 169,772 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า การปรับลดลงดังกล่าวมปัจจัยมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศอันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท และความกังวลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือนปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 102.9

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี โดยปัจจัยบวกมากจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาหารสด ส่วนปัจจัยลบมาจากการหดตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และเมื่อหักสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงาน คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 3.8 แสนคน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.5 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่ตั้งเพดานไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 220.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ฉบับที่ 59/2562

วันที่ 26 กันยายน 2562

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ