รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 พฤศจิกายน 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 3, 2019 13:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ต.ค. 62 หดตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ต.ค.62 หดตัว ร้อยละ -12.8 ต่อปี
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -21.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 11.3
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 63 ขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือน ต.ค. ปีงบประมาณ 63 ขาดดุลจำนวน -112.3 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -15.5 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตร พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัว ในหมวดพืชผลสำคัญที่ร้อยละ 2.2 ขณะที่ผลผลิตสินค้า ในหมวดปศุสัตว์และหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -0.5 และ -4.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล ไข่ไก่ และไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งขาวแวนนาไม และสุกร

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ต.ค. 62 หดตัว ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือ คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตร พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวด ปศุสัตว์ที่ร้อยละ 6.0 ขณะที่หมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงราคาหดตัวที่ร้อยละ -2.1 และ -4.4 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา กลุ่มไม้ผล และกุ้งขาวแวนนาไม

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ต.ค. 62 หดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 โดยเป็นผลจากการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -17.9 จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับอนิสงค์จากมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 1

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนต.ค.62 หดตัวร้อยละ -12.8 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -9.0 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล หดตัวจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ ร้อยละ -18.3 ต่อปีเป็นสำคัญ จากปัจจัยด้านการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเข้มงวดขึ้นของสถาบันการเงิน ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัว ร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ต.ค. ปีงปม. 63 เบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 368.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -21.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 11.3 โดย (1) รายจ่ายปีปัจจุบัน เบิกจ่ายได้ 347.5 พันล้านบาท หดตัว ร้อยละ 22.4 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 11.6 ทั้งนี้ แบ่งออกเป็น (1.1) รายจ่ายประจำ 337.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -20.2 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ ร้อยละ 14.3 และ (1.2) รายจ่ายลงทุน 10.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -58.7 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมที่ ร้อยละ 1.6 (2) รายจ่ายปีก่อน เบิกจ่ายได้ 20.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายสะสมทั้งปีที่ร้อยละ 7.9

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ต.ค. ปีงปม. 63 ได้จำนวน 241.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี โดยมาจาก(1) รายได้จาก 3 กรมภาษีขยายตัวร้อยละ 18.9 ต่อปี และ (2) รายได้จากรัฐวิสาหกิจหน่วยงานอื่นขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. ปีงปม. 63 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -112.3 พันล้านบาททั้งนี้และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 15.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -127.7 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 385.3 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -1.5 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯมาจากการหดตัวของรถยนต์ ที่หดตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน ที่ร้อยละ -22.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานสูง และการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในเดือน ก.ย. ส่งผลให้การผลิตรถยนต์หดตัวทั้งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออก อย่างไรก็ดี หมวดการผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนนี้ โดยขยายตัวที่ ร้อยละ 2.1 ต่อปี ส่งผลให้ช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ดัชนีฯ หดตัวร้อยละ -3.2 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 62.8 ของกำลังการผลิตรวมมาจากการผลิตเคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบเป็นสำคัญ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ต.ค. 62 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -15.5 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า กลับมาขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยมาจากการหดตัวของเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรม ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นรีดเย็น หดตัวร้อยละ -25.9 และ -21.3 ต่อปี ตามลำดับ เป็นการหดตัวตามการชะลอตัวของการส่งออกสินค้า โดยเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอ และผลจากสงครามการค้า ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 62 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ หดตัวร้อยละ -8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 125.5 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 126.1 จุด จากดัชนีสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่ปรับตัวลดลง ด้านยอดขายบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) สวนทางกับเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายฯ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้หดตัวร้อยละ -18.2 และ -3.3 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ตามลำดับ และด้านยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว ร้อยละ -4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -7.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวในทุกหมวดโดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้เครื่องจักรที่หดตัวถึงร้อยละ -17.3 ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -7.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยยอดขายสินค้าหมวดสินค้าทั่วไป ยานยนต์ ของใช้ในครัวเรือน เชื้อเพลิงและเครื่องนุ่งห่มหดตัวลงร้อยละ -13.2 -17.0 -15.0 -13.0 และ -5.6 ตามลำดับ อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อกำลังแรงงานรวมทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 38.7 จุดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

South Korea: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ 100.9 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการผลิตสินค้าทุนที่เร่งขึ้น ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากยอดขายรถยนต์และสินค้ากึ่งคงทนหดตัวลง และเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 62 ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 62 อยู่ที่ระดับ -7.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ที่ระดับ -7.6 จากความเชื่อมั่นภาคการเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

Singapore: mixed signal

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยระดับราคาสินค้าเกือบทุกหมวดชะลอลง ยกเว้นหมวดการขนส่งและอาหารที่เพิ่มขึ้น ดัชนี PMI เดือน ต.ค. 62 อยู่ที่ 49.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.5 จุด โดยผลผลิตอุตสาหกรรม และสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -9.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนโดยมูลค่าการส่งออก Crude Materials Inedible, Except Fuels หดตัวถึงร้อยละ -23.2 มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 62 หดตัวร้อยละ -11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการนำเข้าเครื่องดื่มและยาสูบหดตัวร้อยละ -18.2 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ระดับ -3.05 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 62 หดตัวที่ร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าทีหดตัวร้อยละ -0.6 จากการหดตัวในหมวดการผลิตและผลผลิตแร่ ขณะที่ ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 62 ขยายตัว ร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 จากร้านขายสินค้าทั่วไป ยาและสินค้าทางการแพทย์ขยายตัวขึ้น

Vietnam: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน จากการส่งออกสินค้าเกือบทุกหมวดลดลงยกเว้นถ่านหิน และกาแฟ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.5 จากธัญพืชเป็นสำคัญส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลดลงที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 62 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ ร้อยละ 11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหมวดสินค้าส่วนใหญ่ทรงตัวยกเว้นหมวดการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 62 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและถืออเป็นอัตราเงินเฟ้อระดับที่สูงสุดในรอบ 1 ปี จากราคาสินค้าเกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ในสัปดาห์นี้โดยรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ดัชนี SET ณ วันที่ 28 พ.ย. 62 ปิดที่ระดับ 1597.68 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ย. 62 ที่ 57,436.24ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ย. 62 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ -3,281.75 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับตัว -2 ถึง 4 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยในสัปดาห์นี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจถึง 2.53 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 25 - 28 พ.ย. 62 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ -2,899.44 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 28 พ.ย. 62 เงินบาทปิดที่ 30.23 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.11 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อาทิ เงินเยน ยูโร ริงกิต วอน หยวน และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลหลัก อื่น ๆ หลายสกุล ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.15

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ