รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 8, 2020 14:14 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมี.ค. ปีงบประมาณ 63 หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มี.ค. 63 หดตัว ณ ระดับ ราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มี.ค.63 หดตัว ร้อยละ -31.2 ต่อปี
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น อยู่ที่ ร้อยละ 41.3 ของ GDP
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มี.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศ เดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -18.0 ต่อปี
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (เบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค. ปีงบประมาณ 63 ได้จำนวน 155,480 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -7.9 ต่อปี โดยมาจาก (1) รายได้จาก 3 กรมภาษีหดตัวร้อยละ -6.9 ต่อปี และ(2) รายได้จากหน่วยงานอื่นหดตัวร้อยละ -17.8 ต่อปี จากรายได้ที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจที่ลดลง ทั้งนี้ในครึ่งปีแรกของปี งปม. 63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิได้ 1,143,571 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อปี

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน มี.ค. 63 มีมูลค่า 62,532 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล หดตัวที่ร้อยละ -4.6 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวชะลอลงที่ ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ยังคงได้รับอนิสงค์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องที่ ร้อยละ -10.6 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน มี.ค.63 หดตัวร้อยละ -31.2 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -16.1 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ผลจากหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะที่กรมที่ดินจัดเก็บให้ที่หดตัวติดต่อกันเป็น เดือนที่ 7 ร้อยละ -33.4 ต่อปี เป็นสำคัญ ตามสภาวะทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศอย่างมาก ทำให้ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 63 ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -23.5 ต่อปี

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 63 มีจำนวนทั้งสิ้น 7,018,731 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.3 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะคงค้างลดลงสุทธิ 9,079 ล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบวินัยในการบริหารหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ คิดเป็นร้อยละ 91.0 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 97.3 ของยอดหนี้สาธารณะ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 63 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ -6.3 หากพิจารณารายหมวดผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 63 พบว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ร้อยละ -13.5 และ -15.1 ตามลำดับ ขณะที่ผลผลิตสินค้าในหมวดปศุสัตว์ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยางพารา กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมในเดือน มี.ค. 63 ขยายตัวร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่งผลให้ในช่วง ไตรมาสแรกของปี 63 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 8.8 หากพิจารณารายหมวดราคาสินค้าเกษตรในเดือน มี.ค. 63 พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในหมวดพืชผลสำคัญและหมวดปศุสัตว์ ขยายตัวที่ร้อยละ 11.0 และ 4.3 ตามลำดับ ขณะที่ราคาในหมวดประมงหดตัวที่ร้อยละ -10.1 โดยสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล สุกร ไก่ และไข่ไก่ ขณะที่สินค้า ที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวที่ร้อยละ -14.3 จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญของการหดตัวดัชนีฯ ในเดือน มี.ค. 63 มาจากการหดตัวของหมวดยานยนต์ อาหาร และน้ำมันปิโตรเลียม ที่หดตัวร้อยละ -24.3 -21.9 และ -8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -18.0 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -15.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยหดตัวจากเหล็กทุกประเภท ทั้งเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรม รวมทั้งเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และเหล็กลวด ที่หดตัวร้อยละ -28.3 -27.3 และ -20.7 ต่อปี ตามลำดับ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 63 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศหดตัวร้อยละ -8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี วันที่ 30 เม.ย. 63 ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.00-0.25 เพื่อรองรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ที่ระดับร้อยละ 2 ตามกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของ Fed

Eurozone: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ระดับ -22.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -11.6 จากความกังวลที่ยังคงมีต่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.7 จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.4 ของกำลังแรงงานรวม เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ด้าน .GDP ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (เบื้องต้น) หดตัวที่ร้อยละ -3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19

China: worsening economic trend

ดัชนีฯ (PMI)ภาคอุตสหกรรม (NBS) เดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.0 จุด โดยยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงมาก

Japan: worsening economic trend

ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี เพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 63 สูงขึ้นที่ร้อยละ 2.5 ต่อกำลังแรงงานรวม สูงสุดในปีนี้ สอดคล้องกับจำนวนการจ้างงานที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ -5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และหดตัวที่ร้อยละ -3.7 เมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 63 หดตัวที่ร้อยละ -4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่ำสุดในรอบ 6 เดือน จากการหดตัวของสินค้าทั่วไปที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 63 ปรับลดลงที่ระดับ 21.6 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

South Korea: worsening economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 63 ปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 70.8 จากระดับ 78.4 ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับลดลงระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2008 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 63 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี จากร้อยละ 11.3 ในเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน มี.ค. 63 หดตัวถึงร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นปรับตัวลดลงตัวสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. ปี 1998 เนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งออกเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ -24.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่าที่ 36.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 หลังจากที่ลดลงร้อยละ -0.2 ในเดือนมี.ค. เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยและความต้องการลดลง โดยเฉพาะยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญลดลงร้อยละ -14.9 นอกจากนี้การส่งออกไปประเทศจีนลดลงร้อยละ -17.9 และสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ -13.5 ต่อปี ขณะที่การนำเข้าก็ลดลงเช่นกันที่ร้อยละ -15.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.3 ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเม.ย ขาดดุล 0.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ

Hong Kong: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐหดตัวเร่งขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -11.1 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ -3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Taiwan: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (เบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ ร้อยละ 3.3

Australia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 63 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากร้อยละ 1.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2014 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นจากหมวดอาหารสดเป็นสำคัญ การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างอ่อนเกินร้อยละ 2 ถือเป็นการส่งสัญญาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

Singapore: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 63 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

Vietnam: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.93 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากราคาค่าขนส่งที่ลดลงเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 63 หดตัวร้อยละ -6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า หดตัวร้อยละ -8.3 ส่งผลให้ขาดดุลการค้าที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ - 26 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากยอดขายที่เกิดจากนักท่องเที่ยวลดลงเป็นสำคัญ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากสินค้าจำพวกหัตถอุตสาหกรรมที่ลดลงเป็นสำคัญ

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,301.66 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 27 - 30 เม.ย. 63 ที่ 59,605 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 เม.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,095.61 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุ ปรับตัวลดลง 1 - 9 bps โดยในสัปดาห์นี้ไม่มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 27 - 30 เม.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ 7,788.17 ล้านบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 32.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ -0.07 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ ที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาทิ สกุลเงินยูโร หยวน เยน วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และริงกิต ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.98 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ