รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 13 พฤศจิกายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2020 15:03 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ม.หอการค้าไทย ในเดือน ต.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.2 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.9
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 63 คิดเป็น 1.85 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค. 63 หดตัวร้อยละ -9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฟิลิปปินส์ ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ม.หอการค้าไทย ในเดือน ต.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.2 ในเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.9 ปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งหลังจากปรับตัวลดลงในเดือนก่อนหน้าจากปัญหาทางการเมือง โดยในเดือนนี้ ดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากได้รับอนิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และมาตรการช็อปดีมีคืน ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ย. 63 คิดเป็น 1.85 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือน ต.ค. 63 หดตัวร้อยละ -9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -6.5 จากเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล โดยชะลอตัวตามการก่อสร้างของภาคเอกชน โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอกสองของไวรัสโควิด-19 ความขัดแย้งทางการเมือง และมาตรการของสถาบันการเงินที่เข้มงวด เป็นปัจจัยกดดันให้ธุรกิจการก่อสร้างภาคเอกชน และอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่โดยเฉพาะอาคารชุด

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือน ก.ย. 63 ที่ร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดือน ก.พ. 63 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3 การลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดเวชภัณฑ์ พลังงาน และการขนส่งที่ลดลง จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (Initial Jobless Claims) (7 พ.ย. 63) ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 อยู่ที่ 7.09 แสนราย นับเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.32 แสนราย อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานนี้ยังคงสูงกว่าระดับปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาด

China: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 63 ปรับตัวขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 52 และเป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อันเป็นผลจากราคาอาหารที่ลดลง โดยเฉพาะราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้นร้อยละ 1.7 ในเดือน ก.ย. 63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

EU: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือน ก.ย. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -6.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 19 เดือน ติดต่อกัน ถือว่าหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -5.8 และหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค. 63 เล็กน้อย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -6.7

Malaysia: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.1 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน .ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.5

Indonesia: mixed signal

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ระดับ 79 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.4 จุด ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 63 หดตัวที่ร้อยละ -8.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.2

India: improving economic trend

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 63 เพิ่มขี้นร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน จากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 7.61 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.27 ในเดือนก่อนหน้า และเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับจาก พ.ค. 57 เป็นต้นมา

Philippines: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 63 หดตัวที่ร้อยละ -11.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.9

South Korea: worsening economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 63 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 1.17 ล้านคน

UK: worsening economic trend

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เดือน ก.ย. 63 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -8.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์มวลรวมภายในประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ coronavirus สอดคล้องกับอัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 63 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. 63 ทางด้านดุลการค้า เดือน ก.ย. 63 เกินดุลลดลงอยู่ที่ 0.61 พันล้านปอนด์ จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 7.7

Taiwan: improving economic trend

การส่งออก เดือน ต.ค. 63 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือน ก.พ. 63 อยู่ที่ร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดขายสินค้าในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ การนำเข้า เดือน ต.ค. 63 ลดลงร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากยอดการสั่งซื้อสินค้าในหมวดแร่และเคมีภัณฑ์ที่ลดลง ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ต.ค. 63 เกิดดุลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7,463.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 24

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์และลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น Nikkei225 (ญี่ปุ่น) HSI (ฮ่องกง) STI (สิงคโปร์) TWSE (ไต้หวัน) และ JCI (อินโดนีเซีย) เป็นต้น ดัชนี SET เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 63 ปิดที่ระดับ 1,336.31 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ย. 63 ที่ 114,740.62 ล้านบาทต่อวัน โดยนักลงทุนทั่วไปในประเทศ และนักลงทุนสถาบันในประเทศ เป็นผู้ขายสุทธิ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ขายสุทธิ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9 - 11 พ.ย. 63 นักลงทุนต่างชาติ ซื้อ หลักทรัพย์สุทธิ 30,712.28 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลง -1 bps ระยะกลาง (1ปี - 10 ปี) ปรับตัวในช่วง -3 ถึง 3 bps และระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 1 ถึง 3 bps โดยในสัปดาห์นี้ นักลงทุนมีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลอายุ 4 และ 30 ปี ซึ่งมีนักลงทุนสนใจ 3.04 และ2.40 เท่าของวงเงินประมูล ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 9 - 12 พ.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลเข้า ตลาดพันธบัตรสุทธิ 18,171.96 ล้านบาท และหากนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 12 พ.ย. 63 กระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ไหลออก จากตลาดพันธบัตรสุทธิ -38,804.50 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 12 พ.ย. 63 เงินบาทปิดที่ 30.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.44 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลริงกิต วอน ดอลลาร์สิงคโปร์ และหยวนที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินสกุล เยน และยูโร อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.14 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ