ฉบับที่ 27/2566 วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในปี 2566
และการยุติการดำเนินการของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาด
ตราสารหนี้
นาย
พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษก
กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบ 1) การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ 2) การยุติการดำเนินการของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาด
ตราสารหนี้โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1) การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ลงกึ่งหนึ่ง ออกไปอีก 1 ปี จากร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.125 ต่อปี (ร้อยละ 0.0625 ต่องวด) ของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน สำหรับรอบการนำส่งเงินในปี 2566
ต่อเนื่องจากที่ปรับลดลงมา 3 ปี เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและขอให้ส่งผ่านความช่วยเหลือและผ่อนปรนภาระให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนด้วย
2) การยุติกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาด
ตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund) หรือกองทุน BSF เนื่องจากกองทุนตั้งขึ้นเพื่อเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาด
ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่ปัจจุบัน มีความจำเป็นลดลงจากภาวะตลาด
ตราสารหนี้ภาคเอกชนทำงานได้เป็นปกติผู้ออก
ตราสารหนี้ส่วนใหญ่สามารถระดมทุนได้ตามจำนวนที่เสนอขาย ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงลดลง และรัฐบาล
ได้ผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดหลายด้านเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว
โฆษก
กระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ?
กระทรวงการคลังได้กำชับให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดูแล
และช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การยุติกองทุน BSF จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด
ตราสารหนี้ และ
กระทรวงการคลังยังคงติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเพื่อดูแลทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป?
กองนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3242 และ 3289
ที่มา: กระทรวงการคลัง