รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 9-13 มิ.ย.51

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 17, 2008 13:56 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week
รายจ่ายรัฐบาลในเดือน พ.ค. 51 สามารถเบิกจ่ายได้รวมทั้งสิ้นจำนวน 111.4 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -18.7 ต่อปี จากปัจจัยฐานรายจ่ายที่สูงจากการโอนงบลงทุนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเดือน พ.ย. 50 ทั้งนี้รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้ 100.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.2 ต่อปี ในขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ 9.1 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -77.8 ต่อปีเนื่องมาจากปัจจัยฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเนื่องจากรัฐบาลได้มีโอนเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำงวดไตรมาสที่ 3 ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 30.3 พันล้านล้านบาท ในขณะที่ในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลได้มีการโอนเงินประจำงวดไตรมาสที่ 3 ไปแล้วในเดือนเดือนเม.ย. 51 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณในอัตราที่สูงดังกล่าวส่งผลให้รายจ่ายรับบาลในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 51 ยังขยายตัวอยู่ในอัตราที่สูงที่ร้อยละ 7.2 ต่อปี ซึ่งสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการมุ่งเน้นการกระจายเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงบวกสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไป
รายได้สุทธิรัฐบาลเดือน พ.ค.51 สามารถจัดเก็บได้สุทธิ 273.3 พันล้านบาท ขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.0 ต่อปี โดยมีปจจัยสำคัญจากจากการขยายตัวของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีการชำระภาษีรอบสิ้นปี 2550 (ภงด.50) จำนวน 139.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23.4 สะท้อนผลประกอบการที่ดีขึ้นของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 50 และผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญตามมาตรฐาน IAS 39 น้อยลง สำหรับภาษีฐานการบริโภคยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.4 ต่อปี จากปัจจัยระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ภาษีฐานรายได้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 21.5 ต่อปี ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อปี จากปัจจัยการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับสูงดังกล่าว
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือน พ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี สาเหตุที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวลดลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมากตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง นอกจากนั้น สถานการณ์ด้านการเมืองที่เริ่มตึงเครียดขึ้นอาจมีผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงและมีผลต่อการบริโภคสินค้าคงทนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังคงขยายตัวในระดับสูงเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตั้งแต่ปลายปี 50 ช่วยทำให้การบริโภคของประชาชนในระดับรากหญ้ายังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวม (ปรับฐาน ณ อัตราภาษีใหม่ที่ร้อยละ 0.1) ในเดือน พ.ค. 51 ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 20.4 ต่อปี ลดลงจากที่ขยายตัวสูงมากที่ร้อยละ 44.6 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 22.0 ต่อปี ซึ่งยอดจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ยังขยายตัวในระดับสูงเป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เป็นอัตราใหม่ที่ร้อยละ 0.1 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 51 มีส่วนเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการยังคงเพิ่มระดับการทำธุรกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มเผชิญปัจจัยลบจากภาวะราคาเหล็กและวัสดุก่อสร้างโดยรวมที่เพิ่มสูงขึ้น (ร้อยละ 67.2 ต่อปี และร้อยละ 26.5 ต่อปี ในเดือน พ.ค. 51) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในอนาคตได้
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน พ.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 29.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 13.7 ต่อปี และ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี เนื่องจาก 1) ฐานที่ต่ำเมื่อปีที่แล้วจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว 2) นโยบายสนับสนุนรถยนต์ที่ใช้ E20 และ ก๊าซ NGV ของภาครัฐ ทำให้ค่ายรถยนต์บางค่ายซึ่งผลิตรถยนต์รองรับพลังงานทางเลือกดังกล่าวมียอดขายเพิ่มขึ้นมาก และ 3) ยอดค้างส่งรถยนต์ประเภท E 20 ที่ได้รับสิทธิปรับลดภาษีสรรพสามิตตั้งแต่ต้นปี 51 จากช่วง Motor show เมื่อเดือน เม.ย. 51 อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งอาจเริ่มปรับลดลงเนื่องจากผลของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์เพื่อสำรองเงินไว้ใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันแทน
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน พ.ค. 51 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.2 ต่อปี และหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี โดยเมื่อพิจารณาในรายประเภทแล้ว พบว่า รถยนต์ประเภทปิคอัพขนาด 1 ตัน (ไม่รวม SUV) และรถบรรทุกขนาด 2 ตันขึ้นไป หดตัวที่ร้อยละ -3.2 ต่อปี และ ร้อยละ -32.7 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ว่าการลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่มักใช้รถบรรทุกขนาด 2 ตันขึ้นไปลดลงอย่างชัดเจน โดยสาเหตุหลักน่าจะมาจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการไม่อาจเพิ่มระดับการลงทุนได้มากนักในระยะเวลาอันใกล้ บ่งชี้ว่าการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว
Economic Indicators: Next Week
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน พ.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี แม้ว่ารายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาผลผลิตสินค้าเกษตรในตลาดโลกซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อในระดับรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของตลาดรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันและอาหารที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการปรับตัวลดลงของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และฐานที่สูงจากช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับในเดือนพ.ค. มีฝนตกชุกในหลายพื้นที่ ทำให้คาดว่าปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์อาจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินหยวน
- สาเหตุที่ค่าเงินคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากทางการสหรัฐแสดงความกังวลว่าดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่ามากในช่วงที่ผ่านมาทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงขึ้นมาก พร้อมทั้งส่งสัญญาณว่าอาจเข้าแทรกแซงตลาดการเงินเพื่อผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลอื่น ๆ แข็งค่าขึ้นมาก นอกจากนั้นยอดค้าปลีกสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในเดือน พ.ค. เนื่องจากประชาชนเริ่มนำ เงินที่ได้จากการใช้มาตรการคืนภาษีของภาครัฐมาใช้จ่ายบ่งชี้ว่าภาคการบริโภคที่เป็นสัดส่วนใหญ่ในGDP สหรัฐเริ่มขยายตัวอีกครั้งและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอาจมิได้ตกต่ำมากดังคาดก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
- ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเขตยุโรปเริ่มอ่อนลง โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยุโรปส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นในการประชุมครั้งถัดไปเพื่อชะลอความเสี่ยงเงินเฟ้อ แต่จะไม่เป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้นักลงทุนถอนการลงทุนในยุโรปและหันกลับมาลงทุนในตลาดสหรัฐมากขึ้น นอกจากนั้นทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับขึ้นขณะที่ดอกเบี้ยในญี่ปุ่นที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้นักลงทุนยังคงกู้เงินสกุลเยนและหันลงทุนในสกุลอื่น (Yen Carry Trade) อย่างต่อเนื่อง เงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจึงอ่อนค่าลงรุนแรง อนึ่ง ค่าเงินสกุลเอเชียมีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่เวียดนามประกาศลดค่าเงินดองร้อยละ 2 ทำให้เงินเอเชียสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าลงตาม
- อย่างไรก็ตาม ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากทางการจีนปรับขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนกึ่งกลางให้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 6.90 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐหลังจากเศรษฐกิจจีนประสบภาวะเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง (ร้อยละ 7.7 ในเดือน พ.ค.) จากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้น ทำให้ทางการจีนปรับขึ้นค่าเงินเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินหยวนและดอลลาร์สหรัฐ
- สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าแข็งค่าขึ้นเกือบทุกสกุลเนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ แข็งค่าขึ้นมากจากสัญญาณของทางการสหรัฐที่อาจเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ นอกจากนั้นการที่เวียดนามประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจนทำให้ทางการประกาศลดค่าเงินร้อยละ 2 ก็ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและถอนการลงทุนจากตลาดเอเชียโดยรวม ทำให้ค่าเงินเอเชียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ แข็งค่าขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม การที่ทางการจีนปรับขึ้นค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐในระดับสูงกว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้
ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 30 พ.ค. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.58 และแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 4.55
- เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 24) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 16) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 15) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 14) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 8) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7) เงินเยน (ร้อยละ 6) และริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ หยวน (ร้อยละ 1) เปโซฟิลิปปินส์(ร้อยละ 1) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1) และยูโร (ร้อยละ 7)
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ณ วันที่ 6 มิ.ย. 51 ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน -0.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 127.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจากประเทศโดยเฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้วพบว่าต่างชาติมีการขายสุทธิต่อเนื่องใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนที่ประมาณ 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้สะท้อนว่า ความต้องการขายเงินตราต่างประเทศของธปท.น้อยกว่าความต้องการซื้อเงินตราต่างประเทศของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (30 พ.ค.51) ร้อยละ 1.70 จาก 32.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 32.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 6 มิ.ย.51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ดุลการค้าสหรัฐเดือนเม.ย. 51 ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นมาก แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวสูงขึ้นมากก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนเม.ย. อยู่ที่ 155.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 20.5 ต่อปี จากการส่งออกเครื่องบิน อุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อการเกษตร และสินค้าทุน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 216.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 14.9 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าสหรัฐขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ -58.2 มาเป็น -60.9 พันล้านสหรัฐ
ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนพ.ค. 51 ขยายตัวเพื่อขึ้นร้อยละ 1.0 (mom)เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 (mom)เนื่องจากประชาชนได้รับการคืนภาษีจึงนำเงินออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในสินค้าประเภทเสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ที่ประชุมนโยบายการเงินธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ในวันที่ 12 พ.ค.51 ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี แม้ว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุไถ่ถอน 5 ปี จะลดลงมา 2 basis point ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อเริ่มเป็นปัจจัยเสี่ยงที่รัฐเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นและมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง นโยบายทางการเงินในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่นอกจากจะขึ้นอยู่กับภาวการณ์ส่งออกว่ายังคงมีการขยายตัวดีอยู่หรือไม่และอุปสงค์ภายในประเทศจะชะลอลงมากน้อยแค่ไหน ยังรวมถึงอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งหรือชะลอลง
ดุลการค้าไต้หวันเดือน พ.ค. 51 เกินดุลที่ 2.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มจากเดือนเม.ย. 51 ที่ 1.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลจากการส่งออกขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 20.5 ต่อปี ซึ่งได้อานิสงส์จากความต้องการสินค้าของตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ที่เพิ่มตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ลดลง โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงจนทำให้สหรัฐฯ ตกเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ในเดือน พ.ค. 51 จากที่เคยเป็นอันดับ 2ของไต้หวัน ในขณะที่มีการนำเข้าขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 17.6 ต่อปี จากร้อยละ 17.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ผลจากราคานำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.1 กลายเป็นสินค้านำเข้าสำคัญเป็นอันดับ 2 ของไต้หวันรองจากโลหะ และทำให้การชะลอลงของการนำเข้ามีไม่มากนัก แม้จะมีการนำเข้าสินค้าบางประเภท เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง
ดุลการค้าจีนเดือน พ.ค. 51 เกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 20.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จากเมื่อเดือนเม.ย. 51 ที่ 16.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 28.1 ต่อปี จากร้อยละ 21.8 ต่อปีในเดือนเม.ย. 51 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์รวมขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.0 ต่อปี นอกจากนี้ การค้าระหว่างจีนและอินเดียก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 70.0 ต่อปี ในขณะเดียวกัน การนำเข้าเองก็ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 40.0 ต่อปี จากร้อยละ 26.3 ต่อปี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และราคาสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อโลก เช่นราคาน้ำมันดิบนำเข้า สินแร่ เหล็ก ผลิตภัณฑ์น้ำมัน ถ่านหินและถั่วเหลือง
อัตราเงินเฟ้อจีนเดือน พ.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 8.5 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเม็ดเงินที่ยังคงไหลเข้าประเทศมากขึ้น โดยในเดือน พ.ค. มีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)ขยายตัวที่ร้อยละ 37.9 ต่อปี และมีมูลค่า FDI ใน 5 เดือนขยายตัวร้อยละ 55.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการส่งออกที่ยังคงสูงอยู่ ชี้ว่าปัญหา Global Demand ไม่ได้ชะลอตัวมากตามที่หลายฝ่ายกังวล อาจทำให้ธนาคารกลางจีนกล้าที่จะตัดสินใจใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยและ/หรืออัตราแลกเปลี่ยนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบของจีน ดังจะเห็นได้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 8.1 ต่อปี ในเดือนเม.ย. 51 เป็นร้อยละ 8.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี และบ่งถึงความเป็นไปได้ที่ดัชนีราคาผู้บริโภคจะกลับเพิ่มสูงขึ้นมาในอัตราเร่งอีก
Major Trading Partners’ Economies: Next Week
อัตราเงินเฟ้อสหรัฐเดือนพ.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปีเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังคืนเงินภาษีกลับให้ประชาชนส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น
อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนเดือนพ.ค. 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปีเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี สาเหตุหลักยังคงมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
Macroeconomic Policy Bureau
Fiscal Policy Office Ministry of Finance Tel. 02-273-9020 Ext. 3253
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ