ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 7, 2008 13:49 —กระทรวงการคลัง

          1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวม 6.8 พันล้านเหรียญ สรอ. หรือร้อยละ 0.1 หลังจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 1.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลจากการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2551 (Economic Stimulus Act 2008) หากไม่รวมผลของการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รายได้ส่วนบุคคลของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.3 ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 0.4 ในเดือนพฤษภาคม ตามลำดับ
2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออม นั้น ปรับตัวลดลง 210.3 พันล้านเหรียญ สรอ. หรือร้อยละ 1.9 ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลจากการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นกันจะเห็นได้ว่าการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2551 นั้น ส่งผลกระทบต่อตัวเลขรายได้สวนบุคคลสุทธิของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน อย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จ่ายคืนเงินชดเชยภาษีรวม 1.9 พันล้านเหรียญ สรอ. ในเดือนเมษายน 48.1 พันล้านเหรียญ สรอ. ในเดือนพฤษภาคม และ 27.9 พันล้านเหรียญ สรอ. ในเดือนมิถุนายน ตามลำดับ
3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income — Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อ ที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริง นั้น ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.2 ในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมผลของการจ่ายคืนเงินชดเชยภาษีจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กล่าว รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 0.4 ในเดือนมิถุนายน เปรียบเทียบกับการปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 ในเดือนพฤษภาคม
4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคล (Real Personal Consumption Expenditures - PCE) ประชากรสหรัฐฯ มีการใช้จ่ายลดลงร้อยละ 0.2 ในเดือนมิถุนายน เปรียบเทียบกับการใช้จ่ายในเดือนพฤษภาคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) และสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) มีการปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริการ (Services) ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในเดือนมิถุนายน หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ0.2 ในเดือนพฤษภาคม
6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง ประชาชนมีการออมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในเดือนมิถุนายนซึ่งลดลงจากเดือนพฤษภาคมที่มีการออมถึงร้อยละ 5.0 โดยปริมาณการออมจากรายได้ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน ใช้จ่ายรายได้จากการขายหน่วยลงทุน หรือใช้จ่ายเงินออมจากช่วงก่อนหน้า
Average Growth May-08 June-08
last 12 months
Personal Income 0.5% 1.8% 0.1%
Excluding Rebates 0.4% 0.3%
Real DPI 0.3% 5.2% -2.6%
Excluding Rebates -0.1% -0.4%
Real PCE 0.1% 0.3% -0.2%
PCE Price 0.3% 0.5% 0.8%
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)
อัตราการเติบโตของรายได้ส่วนบุคคลและรายได้ที่แท้จริงของประชากรสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคมเป็นอย่างมาก นับเป็นผลจากการจ่ายคืนเงินภาษีตามพระราชบัญญัติกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2551 ในเดือนพฤษภาคมเป็นหลัก หากไม่คำนึงถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่ลดลงจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กล่าว รายได้ที่แท้จริงของประชากรสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่แตกต่างจากเดือนพฤษภาคมมากนัก ทั้งนี้ ดัชนีราคาในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังคงเป็นแรงกดดันในทางลบที่ส่งผลให้ประชาชนสหรัฐฯ ต้องใช้จ่ายมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งนับเป็นผลจากปัญหาราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ