รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 28, 2008 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ส.ค. 2551 
SUMMARY:
- ภาครัฐออก 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบหนักในไตรมาส 2 และธนาคารมีหนี้เสียสูง 117 แห่ง
HIGHLIGHT:
1. ภาครัฐออก 7 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
- รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจรับทราบ 7 แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเสนอ ประกอบด้วย 1.การพยุงกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะคนจน 2.การดูแลราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว 3.การรักษาตลาดส่งออก 4.การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอ 5.เร่งรัดสินเชื่อในภาคที่ได้รับผลกระทบ เช่น อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยวและธุรกิจเอสเอ็มอี 6.การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้แข่งขันได้ และ 7.มาตรการดูแลตลาดทุนเพิ่มเติม
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 ต่อปี นั้นส่วนหนึ่งมาจากกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เช่น การขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างและค่าแรงขั้นต่ำ มาตการภาษี มาตรการ 6 เดือน 6มาตรการ เป็นต้น ดังนั้น หากภาครัฐออกมาตรการเพิ่มเติม 7 มาตรการ จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2551 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0-6.0 ต่อปี
2. ธปท. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (RP1) ขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ ร้อยละ 3.75 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปัจจุบันและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังอยู่ในเกณฑ์สูงประกอบกับระดับราคาน้ำมันในระยะต่อไปยังมีความไม่แน่นอน อีกทั้งมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็เป็นมาตรการระยะสั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสได้รับผลกระทบเงินเฟ้อจากปัจจัยอื่นๆ
- สศค. วิคราะห์ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะมีผลช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อลงได้ หากเป็นเงินเฟ้อที่มาจากด้านอุปสงค์ (Domestic pull inflation) อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงที่เฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจาก 6 มาตรการของรัฐบาลและการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก
3. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบหนักในไตรมาส 2 และธนาคารมีหนี้เสียสูง 117 แห่ง
- จำนวนธนาคารสหรัฐฯ ที่ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินในช่วงไตรมาส 2 ของปี นี้ได้เพิ่มขึ้นไปถึง 117 แห่งแล้ว จาก 90 แห่งในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2546 ที่ผ่านมา และคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 61 แห่งเท่านั้น ทั้งนี้ จำนวนสินทรัพย์ของธนาคารที่ประสบปัญหาทั้ง 117 แห่งได้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ จากระดับ 2.6 หมื่นล้านเหรียญในช่วงไตรมาสแรก โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นสินทรัพย์เฉพาะในส่วนของธนาคารอินดีแมค ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถูกสถาบันประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (FDIC) เทกโอเวอร์ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาถึง 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่สถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นนั้นมีต้นตอสาเหตุมาจากปัญหาวิกฤตในตลาดการเงินจากภาวะอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ (Sub-prime) ตั้งแต่กลางปี 50 ซึ่งวิกฤตทางการเงินที่มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อนี้คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการภายในประเทศของสหรัฐลดลงและทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างแน่นอน ทำให้ในปี 51 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 2551)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ