ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 8-12 ก.ย.51
Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิรัฐบาลเดือน ส.ค.51 สามารถจัดเก็บได้สุทธิ 181.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -13.2 เนื่องจากปัจจัยการเลื่อนวันยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธินิติบุคคลรอบครึ่งปีบัญชี 2551 (ภงด.51) มาเป็นวันจันทร์ที่ 1 ก.ย.51 ส่งผลให้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ 90.7 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -24.6 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายได้ 3 กรมจัดเก็บภาษี จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ -14.9 ต่อปี เนื่องจากการจัดเก็บได้ลดลงของภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าว และภาษีน้ำมันที่จัดเก็บได้ลดลงจากมาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของฐานภาษี พบว่าภาษีฐานรายได้หดตัวร้อยละ -21.8 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขยายตัวร้อยละ 13.7 ต่อปี ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.3 ต่อปี เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
รายจ่ายรัฐบาลในเดือน ส.ค. 51 สามารถเบิกจ่ายได้ 124.6 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงจากปีก่อนหน้าที่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 50 ทั้งนี้ รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 107.8 พันล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี โดยรายจ่ายประจำพิเศษได้แก่ การจัดสรรเงินให้กองทุนหลักประกันสุขภาพจำนวน 7.0 พันล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 12.6 พันล้านบาท หดตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -27.0 ต่อปีเนื่องมาจากฐานที่สูงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนให้กับกรมทางหลวงจำนวน 4.0 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุนรวมในช่วงที่ 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 51 (ต.ค.50—ส.ค.51) สามารถเบิกจ่ายได้แล้วร้อยละ 74.5 ของกรอบวงเงินงบลงทุน (334.6 พันล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีงบประมาณที่ร้อยละ 74.0 นอกจากนี้ รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 51 รวมจำนวน 1,483.5 พันล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี และคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 81.9 ของกรอบงบประมาณประจำปี 51 (1,660 พันล้านบาท)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ส.ค 51 ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 23.3 ต่อปี และสูงกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 8.0 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในเดือน ก.ค. 51 นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การเมืองที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคซึ่งกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลจากนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน มีส่วนช่วยลดภาระค่าครองชีพและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน บ่งชี้ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้แม้จะเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัว
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ส.ค.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.3 ต่อปี ต่ำกว่าที่คาดไว้ร้อยละ 25.0 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัจจัยทางการเมืองที่ส่งผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจของผู้บริโภคซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจรวมที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลของการปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้น้ำมัน E20 และ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ตาม 6 มาตรการการ 6 เดือนของรัฐบาล น่าจะเป็นปัจจัยบวกให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ยังคงขยายตัวได้
ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือน ส.ค.51 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการขยายตัวในระดับปกติหลังจากที่เดือน ก.ค. เป็นเดือนที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาช่วง 2 เดือนแรกในไตรมาส 3 พบว่า ขยายตัวถึงร้อยละ 10.4 ต่อปี เร่งขึ้นมากจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี สะท้อนแนวโน้มการใช้จ่ายในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลทางบวกจากภาวะผันผวนของราคาน้ำมันที่จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้นเห็นได้จากรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวที่สามารถประหยัดน้ำมันดีกว่า โดยมีสัดส่วนตลาดเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องกว่าร้อยละ 50 และขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.9 ต่อปี
Economic Indicators: This Week (Continue)
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจรวม เดือน ส.ค. 51 ปรับตัวลดลงที่ระดับ 70.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 71.8 เป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 51 เนื่องจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นค่าเงินบาทที่อ่อนค่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผู้บริโภคยังมีความกังวลจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคให้ปรับตัวลดลง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ส.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 ต่อปี ชะลอลงมากจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 43.0 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่คาดไว้มากร้อยละ 35.0 ต่อปี ส่งผลให้ช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3 ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 23.9 ต่อปี สาเหตุหลักจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่ากำลังซื้อผู้บริโภคอันเป็นผลจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์และอาคารชุดภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังคงมีอยู่ และอยู่ในช่วงของมาตรการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม บ่งชี้ถึงสัญญาณการขยายตัวชะลอตัวลงของการลงทุนด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และอาจทำให้มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนภาคเอกชนบรรลุวัตถุประสงค์ได้ยากขึ้น
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือน ส.ค. 51 หดตัวที่ร้อยละ -25.7 ต่อปีหดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -29.3 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลที่เริ่มปรับตัวลดลงอันเป็นผลจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามนโยบาย 6 มาตรการการ 6 เดือนของรัฐบาล ช่วยให้ต้นทุนขนส่งสินค้าของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SME) ลดลง เริ่มจูงใจให้ผู้ประกอบการตัดสินใจซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะลงทุนมากขึ้น เมื่อพิจารณาประเภทรถยนต์เชิงพาณิชย์รายเดือน (%mom) พบว่า รถปิคอัพขนาด 1 ตัน และรถบรรทุก ขยายตัวร้อยละ15.9 ต่อเดือน และร้อยละ 6.5 ต่อเดือน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบางสูงจากปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ส.ค. 51 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิต ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง ที่ร้อยละ 40.0 99.7 และ 215.6 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจาก อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตและเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ราคาสินค้าในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้มีการเร่งเก็บเกี่ยวมากขึ้น
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ส.ค. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 75.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 73.6 เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในอนาคต คือราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต้นทุนของผู้ประกอบการให้ปรับตัวลดลง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่มีเสถียรภาพและอ่อนค่าลงเล็กน้อยจะช่วยส่งผลกระทบด้านบวกแก่ผู้ประกอบการส่งออกให้สามารถเพิ่มยอดขายจากต่างประเทศได้
Foreign Exchange Review:
ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ยกเว้นค่าเงินเยน ดอลลาร์ฮ่องกง ริงกิตมาเลเซีย และวอน
เกาหลีที่แข็งค่าขึ้น
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจาก 1) กระทรวงการคลังสหรัฐได้เข้าซื้อสถาบันการเงินเพื่อการจำนองที่อยู่อาศัย Fannie Mae และ Freddie Mac ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินและ 2) กระแสข่าวที่ว่าทางการสหรัฐช่วยเหลือวานิชธนกิจชื่อดัง Lehman Brothers ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินโดยช่วยเสาะหาผู้สนใจจะเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ซึ่งกระแสข่าวทั้งสองเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดการเงินในภาพรวมหลังจากที่ตลาดการเงินในระหว่างสัปดาห์เผชิญกับปัจจัยลบจากผลประกอบการที่ขาดทุนของวานิชธนกิจต่าง ๆ ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมากขึ้นและทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
นอกจากนั้นคำกล่าวจากประธานกลุ่มรัฐมนตรีคลังยุโรปและกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปที่ว่าเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยุโรปจะยังคงอ่อนแอต่อเนื่องขณะที่ค่าเงินยูโรยังคงแข็งค่าเกินไป ทำให้ตลาดคาดว่าเป็นไปได้ที่ ECB อาจปรับลดดอกเบี้ยลง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปี นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจในเอเชีย เช่น อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวันมีทิศทางชะลอลงจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง ทำให้การส่งออกของประเทศดังกล่าวมีทิศทางชะลอลงเช่นกัน ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลจึงถอนการลงทุนจากตลาดยุโรปและเอเชีย และหันไปลงทุนในตลาดสหรัฐมากขึ้น ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าว
ด้านค่าเงินเยนและค่าเงินเอเชียบางสกุลมีทิศทางแข็งค่าขึ้นด้วยเหตุผลต่างกัน โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเนื่องจากตลาดกังวลในความผันผวนในตลาดการเงินโลก จึงทำให้นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นเกิดความกังวล จึงขายสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลเยนเพื่อคืนเงินกู้(หรือ Yen Carry Trade Unwind) ทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินของเอเชียบางสกุลโดยเฉพาะวอนเกาหลีแข็งค่าขึ้นเนื่องจากทางการของประเทศดังกล่าวเข้าแทรกแซงค่าเงินหลังจากที่ค่าเงินของประเทศดังกล่าวอ่อนค่าลงมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงระหว่างสัปดาห์ของค่าเงินดังกล่าวแข็งค่าขึ้น
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนยกเว้นค่าเงินยูโร ปอนด์สเตอลิงค์ รูเปียห์อินโดนีเซีย เปโซฟิลิปปินส์และ
ดอลลาร์ไต้หวัน
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์สกุลเงินบาทอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินมิให้อ่อนลงมาก ทำให้เงินบาทจึงอ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ ที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินคู่ค้าสำคัญบางสกุล เช่น ยูโร ปอนด์สเตอลิงค์ รูเปียห์อินโดนีเซีย เปโซฟิลิปปินส์และดอลลาร์ไต้หวันอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลดังกล่าวแข็งค่าขึ้น
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี
ดอลลาร์สิงคโปร์ รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 5 ก.ย. 51 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 3.26 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 3.63
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 26.6) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 14.7) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 12.5) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ9.6) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 9.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 7.6) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 2.9) เงินเยน (ร้อยละ 0.5) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.2) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร (ร้อยละ 1.9) หยวน (ร้อยละ 6.3) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.3)
Foreign Exchange and Reserves:
ณ วันที่ 5 ก.ย.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศรวม Gross Reserve และ Forward Obligation ลดลงสุทธิจากสัปดาห์ก่อนหน้าจำนวน - 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ระดับ 115.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศรวมลดลง คาดว่ามาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะที่นักลงทุนต่างชาติถอนเงินลงทุนจาก
ประเทศโดยเฉพาะจากการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากความไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองของไทย รวมทั้งการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เมือ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา และการอ่อนค่าของค่าเงินในภูมิภาคและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทในสัปดาห์ดังกล่าวนี้ สะท้อนว่าผลจากการเข้าแทรกแซงของทางการมีน้อยกว่าความต้องขายเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (วันที่ 29 ส.ค.51) 0.40 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.17 จาก 34.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 34.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 5 ก.ย. 51
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ดุลการค้าของสหรัฐเดือนก.ค. 51 ขาดดุลที่ -62.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสูงสุดในรอบ 16 เดือน จากมูลค่าและปริมาณการนำเข้าน้ำ มันที่เพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็ตาม โดยในเดือนส.ค. 51 การส่งออกคิดเป็นมูลค่า 168.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 20.1 ต่อปี โดยมีสินค้าส่งออกที่ขยายตัวอย่างมาก ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม สินค้าทุนรถยนต์และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี หรือมีมูลค่า 230.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 13.7 ต่อปี มาจากมูลค่านำเข้า สินค้าในหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากทั้งราคาพลังงานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นรวมถึงปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าในหมวดพลังงานขาดดุล -43.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลที่สูงสุดในประวิติการณ์
อัตราการว่างงานของสหรัฐเดือนส.ค. 51 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.1 จากร้อยละ 5.7 ในเดือนก.ค. นับเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นการสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสาเหตุส่วนหนึ่งที่อัตราการว่างงานในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นอย่างมากอาจจะมาจากการเลื่อนระยะเวลาสิ้นสุดโครงการให้สวัสดิการแก่ประชาชน (Long-term jobless benefits) ออกไป ส่งผลให้แรงงานบางคนยังไม่เข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนี้ตัวเลข Non-farm payroll ในเดือนส.ค. ลดลง 84,000 ตำแหน่ง นับเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยมีแรงงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรมลดลงมากที่สุดที่ 61,000 ตำแหน่ง
ดุลการค้าไต้หวันเดือน ส.ค. 51 ขาดดุลที่ -0.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐขาดดุลลดลงจาก -0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี เป็นร้อยละ 18.4 ต่อปี เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการสินค้าจากสหรัฐและยุโรปที่กลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่การนำเข้าของไต้หวันขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราที่มากกว่า คือ จากร้อยละ 12.3 ต่อปีในเดือน ก.ค. 51 เป็นร้อยละ 39.9 ต่อปี ในเดือน ส.ค. 51
มูลค่าการส่งออกของฟิลิปปินส์เดือน ก.ค. 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปีชะลอลงจากเดือน มิ.ย. 51 ที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี โดยมีการส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 58 ของการส่งออกรวม มีมูลค่าลดลงร้อยละ -1.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าจากสหรัฐและจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 3 ของฟิลิปปินส์ลดลง โดยมีการส่งออกไปยังทั้ง 2 ประเทศลดลงคิดเป็นร้อยละ -7.9 ต่อปี และร้อยละ -3.0 ต่อปี ตามลำดับ แม้จะมีการส่งออกไปยังญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปีมาช่วยชดเชยบ้างทำให้การส่งออกยังขยายตัวได้บ้าง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของจีนในเดือน ส.ค. 51 อยู่ที่ร้อยละ 4.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเขตเมืองอยู่ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี ลดลงจากเดือน ก.ค. 51 ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อในพื้นที่ชนบทอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 6.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าทั้งนี้เป็นผลจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากร้อยละ 14.4 ต่อปีในเดือน ก.ค. 51 เป็นร้อยละ 10.3 ต่อปี ในเดือน ส.ค. 51 ในขณะที่ค่าสาธารณูปโภค ค่าที่อยู่อาศัย และค่าเช่าขยายตัวชะลอลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามราคาวัตถุดิบก่อสร้างและการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการจัดงานโอลิมปิกทำให้การลงทุนจากต่างประเทศและจากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมีมากขึ้นและระดับราคามีการขยายตัวบ้างในเดือน ส.ค. 51
ดุลการค้าจีนในเดือน ส.ค. 51 เกินดุลที่ 28.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 25.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการส่งออกที่ยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 21.1 ต่อปี แม้จะชะลอลงจากร้อยละ 26.9 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรปแต่การนำเข้ามีการขยายตัวชะลอลงในอัตราที่มากกว่าที่ร้อยละ 23.1 ต่อปี จากที่เคยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.7 ต่อปี ในเดือน ก.ค. 51 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบและราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวลดลงในเดือน ส.ค.
ตัวเลข GDP ของเศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาสที่ 2 ปี 51 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี จากไตรมาสแรกที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี จากการบริโภคภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของการบริโภคภาคเอกชนอย่างชัดเจนส่งผลให้คาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลียอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Cash rate) อีกในระยะอันใกล้ จากปัจจุบันที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th