รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2008 13:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ต.ค. 2551

SUMMARY:
  • รัฐบาลเร่งอัดฉีดเงินลงทุน
  • ซีอีโอไทยกังวลวิกฤติการเงินสหรัฐฯและสถานการณ์การเมือง
  • ราคาน้ำมันยังตกต่ำต่อเนื่องแม้ OPEC ลดกำลังการผลิต
HIGHLIGHT:
1. รัฐเร่งอัดฉีดเงินลงทุน
  • รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล 1.8 แสนล้านบาท และเร่งลงทุนโครงการ Mega-Project โดยเพิ่มงบประมาณปี 52 อีก 1 แสนล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากรัฐวิสาหกิจ เงินกู้จากในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนต่างประเทศนั้น รัฐบาลจีนยินดีจะปล่อยกู้แบบผ่อนปรน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการ Mega-Project ด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การสนับสนุนการใช้จ่ายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่ และทางอ้อมผ่านการชักจูงให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการลงทุน (crowding-in effect) ทั้งนี้งบประมาณที่เพิ่มขึ้น 1 แสนบาทจะช่วยส่งผลให้ GDP ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อปี
2. ซีอีโอไทยกังวลวิกฤติการเงินสหรัฐฯและสถานการณ์การเมือง
  • ผลสำรวจความเห็นของซิอีโอและผู้บริหารจำนวน 300 ราย ของกรุงเทพธุรกิจพบว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจในปี 52 เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือปัญหาการเมืองภายในประเทศและค่าเงินบาท โดยภาคเอกชนมองว่า ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองจะทำให้ยอดขายในปี 52 ลดลง รองลงมาคือปัญหาด้านสภาพคล่องที่ลดลง คู่ค้าค้างชำระหนี้ การส่งออกลดลงและการปล่อยกู้ของธนาคารที่จะลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 น่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0-5.0 ชะลอลงจากปีนี้ที่น่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 เนื่องจากการชะลอลงของการส่งออกอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์การเงินโลกเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศจะขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากรายได้ที่แท้จริงของประชาชนปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง เช่นเดียวกับการลงทุนที่น่าจะขยายดีขึ้นจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน นอกจากนั้นนโยบายการคลังที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 ต่อ GDP ในปี 52 น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 52 ได้แก่วิกฤตการณ์การเงินโลกและสถานการณ์การเมืองที่อาจทำให้ทั้งเศรษฐกิจในและต่างประเทศชะลอตัวรุนแรงกว่าคาดได้
3. ราคาน้ำมันยังตกต่ำต่อเนื่องแม้ OPEC ลดกำลังการผลิต
  • ณ วันที่ 24 ต.ค. 51 ที่ประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (OPEC) มีมติลดกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือประมาณร้อยละ 2 ของกำลังการผลิต เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำลงถึงประมาณร้อยละ 55 จากราคาสูงสุดที่ประมาณ 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อเดือน ก.ค. อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินโลกในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า NYMEX ยังคงตกต่ำต่อเนื่อง โดยลดลงประมาณ 3.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 64.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการลดกำลังการผลิตของ OPEC ในครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้ราคาจากระดับปัจจุบันมากนัก เนื่องจากความต้องการน้ำมันโลกโดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาแล้วลดลงมากกว่าการลดลงของปริมาณการผลิตโลกเป็นจำนวนมาก โดยจากการคำนวณเบื้องต้นของ สศค. พบว่า วิกฤตการณ์การเงินโลกครั้งนี้จะทำให้ความต้องการน้ำมันโลกในไตรมาสที่ 4 ลดลงประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากไตรมาสก่อนหน้า และทำให้ปริมาณการผลิตส่วนเกินในไตรมาสที่ 4 เพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายไตรมาสลดลงประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาสที่ 4 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 103 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในไตรมาสที่ 3

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ