รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 20-24 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 27, 2008 14:02 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 51 อยู่ที่ระดับ 81.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 83.0 โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองที่กลับมารุนแรงมากขึ้น ที่นำมาซึ่งการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงต้นเดือนก.ย.51 ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปทั่วภูมิภาค จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จึงทำให้ยอดคำสั่งซื้อและยอดขายลดลง

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.ย.51 มีจำนวน 0.89 ล้านคน หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.8 ต่อปี ตามความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงเทพมหานครในช่วงปลายเดือนส.ค.-ต้นเดือนก.ย.51 ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาลงที่สนามบิสุวรรณภูมิในเดือนก.ย.51 ลดลงร้อยละ -20.6 ต่อปี ตามที่ได้คาดไว้

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เดือน ส.ค. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 35.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 35.4 จากยอดหนี้สาธารณะรวมที่เพิ่มขึ้น 4.8 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3,339.5 พันล้านบาททั้งนี้ การเพิ่มขึ้นเล็กน้อยของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้น 5.9 พันล้านบาทที่เกิดจากการปรับเพิ่มระดับตั๋วเงินคลัง เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะดุลเงินสดของรัฐบาล และการออกพันธบัตรรัฐบาลและออมทรัพย์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ วงเงินรวม 6.6 พันล้านบาท และการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 3.3 พันล้านบาท จากการที่ ธกส.กู้เงินระยะสั้น 1.4 พันล้าน และ ธอส.ออกพันธบัตรวงเงิน 2.0 พันล้านบาท ในขณะที่หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง -6.1 พันล้านบาท

สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์เดือน ก.ย. 51 ขยายตัวในอัตราร้อยละ 14.9 สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศจำนวน 18 แห่ง ณ เดือน ก.ย. 51 ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากต้นปี 51 โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 14.9 สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.4 โดยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 5,764.9 พันล้านบาท สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5,720.2 พันล้านบาทหรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าสำหรับเงินฝากรวมในธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ จำนวน 18 แห่ง ณ เดือน ก.ย. 51 ขยายตัวต่ำต่อเนื่องจากต้นปี โดยขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 0.92

Economic Indicators: Next Week

ยอดขายปูนซีเมนต์เดือน ก.ย. 51 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -16.0 ต่อปีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.0 ต่อปี เนื่องจากความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศน่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาปูนซีเมนต์เดือน ก.ย. ที่ยังคงขยายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ต่อปีในขณะที่อุปสงค์ปูนซีเมนต์จากต่างประเทศโดยเฉพาะจากบังคลาเทศที่เร่งตัวขึ้นมาก (สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าร้อยละ 34.0 ของมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมด) ทำให้ผู้ผลิตเพิ่มการส่งออกปูนซีเมนต์เพื่อทดแทนตลาดภายในประเทศที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์ภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปีหน้าเนื่องจากแผนการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐที่จะเริ่มในปี 52 นี้

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 51 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อปี เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยจากต่างประเทศจะปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และทำให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตลง โดยสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวชะลอลง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีตลาดสหรัฐฯ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงในเกือบทุกสกุล ยกเว้นค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
  • ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินในสหรัฐได้ลุกลามไปยังทวีปต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรปและอังกฤษ (BOE) จนทำให้ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษกล่าวยอมรับว่า ระบบธนาคารอังกฤษเกือบจะล้มเหลว และคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษจะประสบภาวะถดถอยในระยะต่อไป ในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจยุโรปยังคงตกต่ำต่อเนื่อง ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ BOE จะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรงในการประชุมต้นเดือน พ.ย. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและ
ฟื้นฟูความเชื่อมั่น
  • ในขณะที่ในเอเชีย สถานการณ์ด้านการเงินยังคงตกต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเกาหลีใต้จนทำให้ทางการประกาศมาตรการ 8 ข้อเพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจและการเงินในขณะที่ธนาคารกลางอินเดิยและเวียดนามปรับลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 จากที่เคยปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนิเซียผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ในการถือสัดส่วนเงินสำรองเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบมากขึ้น
  • ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐมีแนวคิดจะออกมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยเหลือภาคการเงินเพิ่มเติม แต่อาจไม่ลดดอกเบี้ยรุนแรงเท่าในยุโรปและเอเชีย ทำให้ตลาดถอนการลงทุนจากยุโรปและเอเชียและหันกลับไปลงทุนในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจโลกผันผวนจึงทำให้นักลงทุนที่เคยกู้เงินเยนไปลงทุนในสกุลอื่นปรับฐานการลงทุนและหันไปซื้อเยนเพื่อคืนเงินกู้ (Unwind Carry Trade) เงินเยนจึงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสูงสุดในรอบ 7 ปี
ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินของคู่ค้าหลักส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้น ยกเว้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนและหยวนที่บาทอ่อนค่าลง

สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักแข็งค่าขึ้นเนื่องจากค่าเงินสกุลหลักทั้งในยุโรปและเอเชียอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่วิกฤตการณ์การเงินสหรัฐลุกลามไปทั่วโลก ในขณะที่ผู้นำเข้ายังคงซื้อดอลลาร์สหรัฐสุทธิ จึงทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่แข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจากการที่นักลงทุนทำธุรกรรม Unwind Carry Trade ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับเยน

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 11 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 24 ต.ค. 51แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 49 ร้อยละ 5.63 อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 5.88

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 63.4) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 25.4) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 19.1) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 12.7) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 9.9) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 9.7) ยูโร (ร้อยละ 7.2) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 7.1) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 4.5) และดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.9) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ เงินเยน (ร้อยละ 8.2) และหยวน (ร้อยละ 5.8)

Foreign Exchange and Reserves

ณ วันที่ 17 ต.ค.51 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) อยู่ที่ระดับ113.90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับสัปดาห์ก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -1.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 34.21 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่อยู่ที่ 34.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ไม่น่าจะเข้าแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศมากนักดังเห็นได้จาก Net Reserve ที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยหรือร้อยละ -0.42 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางการอ่อนลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐ

Major Trading Partners’ Economies: This Week

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 ปี 51 ขยายตัวเพียงรอ้ ยละ 9.0 ต่อปี ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยชะลอจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.1 ต่อปี มาจากการส่งออกที่ชะลอลงในช่วงไตรมาส 3 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลทางอ้อมของวิกฤตการเงินโลกที่ทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลงจนส่งผลต่อระดับการผลิตของประเทศ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมล่าสุดในเดือนก.ย. 51 มีการขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้จากที่เคยขยายตัวร้อยละ 17.4 ต่อปีในเดือน ม.ค. 51 เหลือเพียงร้อยละ 11.4 ต่อปี นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลให้ราคาเหล็กและโลหะในตลาดโลกปรับตัวลดลงอีก ในขณะเดียวกันจะส่งผลให้การส่งออกของประเทศในเขตเอเชียชะลอตัวลง เนื่องจากการนำเข้าของจีนคาดว่าจะชะลอลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้หลังประกาศตัวเลขเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้มาตรการลดภาษีเพื่อช่วยเหลือธุรกิจส่งออกโดยเฉพาะธุรกิจสิ่งทอ และยังมีแผนการใช้จ่ายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเร่งการใช้จ่ายของประเทศอีกด้วย

ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือนก.ย. 51 กลับมาเกินดุลที่ 95.1 พันล้านเยน หรือคิดเป็น 973 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังขาดดุลที่ -324 พันล้านเยนในเดือน ส.ค. 51 แม้ว่าจะมีการนำเข้าขยายตัวเร่งจากร้อยละ 17.3 ต่อปีในเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 28.8 ต่อปี เป็นการเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี เป็นผลจากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 0.3 ต่อปีในเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย อย่างไรก็ดี การส่งออกเองมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ต่อปีเท่านั้น เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น และการแข็งค่าของเงินเยนจากเดือน ส.ค. กว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับเงินยูโร โดยการส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรปยังคงลดลงต่อเนื่องคิดเป็นร้อยละ -10.9 ต่อปี และร้อยละ 9.0 ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังจีนมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 ต่อปี ซึ่งสะท้อนถึงภาวะชะลอตัวของการส่งออกและเศรษฐกิจจีนที่ทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นลดลง

อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงเดือน ก.ย. 51 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 14.9 ต่อปี และเป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อันได้แก่การยกเว้นค่าเช่าที่พักอาศัยของรัฐ การลดภาษีอสังหาริมทรัพย์ลง รวมถึงการให้เงินอุดหนุนค่าอาหาร ค่ารถไฟใต้ดิน และค่าไฟฟ้า อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริง โดยหักราคาสินค้าหมวดสาธารณูปโภคและค่าเช่าบ้านออกไป อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.3 ต่อปี

ผลผลิตอุตสาหกรรมของไต้หวัน เดือน ก.ย. 51 หดตัวที่ร้อยละ -1.4 ต่อปีลดลงจากเดือนที่แล้วที่มีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวของเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิตมีการหดตัวที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี อุตสาหกรรมก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หดตัวที่ร้อยละ -10.3 ต่อปี และอุตสาหกรรมเหมืองแร่หดตัวที่ร้อยละ -23.1 ต่อปี ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไต้หวันในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ธนาคารกลางอินเดียและธนาคารกลางเวียดนามประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 20 ต.ค.51 ลงหลังจากที่ธนาคารกลาง 13 แห่งทั่วโลกปรับลดลงไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อเพิ่มสภาคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินเดีย (Repurchase rate) ปรับลดลงร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ ร้อยละ 8.0 ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเวียดนาม(Prime rate) ปรับลดลงเช่นกันร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี

ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้า NYMEX ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยล่าสุดได้ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 68.4 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบคือ 1)สถานการณ์วิกฤติการณ์เงินโลกทำให้ตลาดยังคาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันดิบน่าจะปรับตัวลดลงได้อีก ถึงแม้ว่าทางกลุ่มโอเปกมีแผนลดกำลังการผลิตในการประชุมฉุกเฉินที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ในวันศุกร์ที่ 24 ต.ค. นี้ หลังเผชิญความต้องการน้ำมันเติบโตต่ำสุดนับแต่ปี 2536 เพื่อลดปริมาณน้ำมันส่วนเกินและกระตุ้นราคา ด้านนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป อิงค์ และเมอร์ลิน ลินช์ แอนด์ โค คาดว่าราคาน้ำมันดิบอาจร่วงลงได้อีกร้อยละ 44 หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางด้านสัญญาออปชั่นจำหน่ายน้ำมัน 1000 บาร์เรลที่ระดับราคา 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน ธ.ค. ปิดที่ 280 ดอลลาร์ หรือพุ่งขึ้นกว่า 28 เท่าในช่วงเวลาเพียง 2 สัปดาห์ สะท้อนภาพว่าตลาดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสลดลงมาที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ และ 2) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 1ปีครึ่ง เนื่องจากประเทศต่างๆอาจมีความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลง

Major Trading Partners’ Economies: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของมาเลเซียในเดือน ก.ย. 51 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ต่อปี ลดลงจากเดือน ส.ค.ที่ระดับ 8.5 ต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2524 ทั้งนี้เป็นผลมาจาก การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อดัชนีราคาในหมวดขนส่งที่มีน้ำหนักมากเป็นอันดับ 3 ในตะกร้าเงินเฟ้อให้ปรับตัวลดลงได้ อย่างไรก็ดีคาดว่าดัชนีราคาในหมวด อาหารและเครื่องดื่มจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากเป็นช่วงเดือนรอมาฎอน ทำให้โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ย. จะปรับตัวลดลงมากเป็นไปได้ยากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ