รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 31, 2008 16:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 ต.ค. 2551

SUMMARY:
  • หอการค้าไทย คาดเศรษฐกิจปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.5-5.0 ต่อปี
  • ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ชะลอแผนขยายปูนซีเมนต์ต่างประเทศ
  • เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสสามหดตัว การบริโภคภาคเอกชนเป็นเหตุหลัก
HIGHLIGHT:
1. หอการค้าไทย คาดเศรษฐกิจปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.5-5.0 ต่อปี
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 51 ว่าจะเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนโดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีการเมืองไทยประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลกระทบมาถึงไทยบ้างแล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 51 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5-5.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 51 จะขยายตัวชะลอลงจากจากครึ่งแรกของปีที่ขยายร้อยละ 5.7 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจนจากปัญหาวิกฤตการเงินสหรัฐแล้วลุกลามไปทั่วโลก โดยเฉพาะ ยุโรป อเมริกา รวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 51 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนกันยายน)
2. ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ชะลอแผนขยายปูนซีเมนต์ต่างประเทศ
  • กก.ผจก. เครือ SCG เปิดเผยว่าจะมีการทบทวนแผนขยายงานธุรกิจโรงงานปูนซีเมนต์ในต่างประเทศ ได้แก่ กัมพูชาและอินโดนีเซีย วงเงิน รวม300 ล้านดอลลาห์สหรัฐ (เพิ่มการผลิตรวม 3 ล้านตัน/ปี) อีกทั้งอาจลดการผลิตปูนซีเมนต์ในอนาคตหากตลาดทั้งในและต่างประเทศหดตัวลง อย่างไรก็มียังคงเดินหน้าลงทุนโครงการที่จะได้ผลตอบแทนกลับมาเร็ว เช่น การผลิตไฟฟ้าจากความร้อนทิ้ง (WHG) ในโรงปูนซีเมนต์ มูลค่ารวม 6 พันล้านบาท ที่จะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงาน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบจากความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศไทยซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการลงทุนของประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ การลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือร้อยละ 0.1 สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ การลดอัตราค่าธรรมเนียมการโอนและการจำนอง เหลือร้อยละ 0.01 ตลอดจน ในอนาคตจะได้การกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ และเพิ่มการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project)
3. เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสสามหดตัว การบริโภคภาคเอกชนเป็นเหตุหลัก
  • Real GDP ของสหรัฐในไตรมาสสาม 2551 หดตัวลงจากไตรมาสสองที่ร้อยละ -0.3 ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 7 ปี หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในธุรกิจไฮเทคเมื่อปี 2544 แม้จะน้อยกว่าการคาดการณ์ของหลายๆสำนักก็ตาม โดยการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 ชอง GDP หดตัวลงถึงร้อยละ 3.1 จากไตรมาสที่แล้ว เป็นการหดตัวของการบริโภคที่รุนแรงที่สุดในรอบ 17 ปี ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ อาจจะเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ก่อนวิกฤตทางการเงืนเมื่อกลางเดือนก.ย. 51 แล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 50 แล้ว Real GDP ของสหรัฐยังคงเติบโตได้ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 จะน้อยกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 แต่จะเห็นได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐที่มีจุดเริ่มมาจากภาคการเงินเริ่มส่งผลกระทบถึง real sector แล้ว โดยรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะออกมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นอีก ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลงอีกในไตรมาสที่สี่ จะเท่ากับว่าสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันอย่างเต็มตัว โดยจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งทางตรงในแง่ของการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐที่จะลดลง และทางอ้อมผ่านยอดการสั่งซื้อสินค้าจากไทยโดยประเทศคู่ค้าของสหรัฐได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยในอนาคต

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ