การปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (S&P’s, Fitch Ratings, R&I, JCR และ Moody’s)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 11, 2008 11:58 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังโดยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอเรียนว่า ปัจจุบันบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท Standard & Poor’s (S&P’s), Fitch Ratings, Rating & Investment Information, Inc. (R&I), Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) และ Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้แถลงข่าวการปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

(1) บริษัท Standard & Poor’s (S&P’s) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (Long-term/Short-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาท (Long — term/Short-term Local Currency Rating) ที่ระดับ A/A-1 เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2551 เวลาประมาณ 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

(2) บริษัท Fitch Ratings ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+ ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Long - term Local Currency Rating) ที่ระดับ A และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้น (Short — term Rating) ที่ระดับ F2 พร้อมทั้งยืนยันระดับเครดิตของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A- เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2551

(3) บริษัท Rating & Investment Information, Inc. (R&I) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Rating) อยู่ที่ระดับ BBB+ และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Domestic Currency Issuer Rating) ที่ระดับ A- เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2551 เวลา 13.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

(4) บริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. JCR ได้แถลงข่าวการปรับแนวโน้มของระดับของเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่มีการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบ (Credit Monitor (Negative)) โดย JCR ยังคงยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Local Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A+ และยืนยันระดับเครดิตพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bonds) สำหรับพันธบัตรสกุลเงินเยนของรัฐบาลไทย รุ่นที่ 20 ซึ่งออกเมื่อเดือนธันวาคม 2544 และจะครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2551 (Japanese Yen Bonds-20th Series) ที่ A- เมื่อวันพุธที่ 3 ธันวาคม 2551 เวลาประมาณ 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และ

(5) บริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยังคงยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาท (Foreign- and Local Currency Government Rating) ที่ระดับ Baa1 ระดับเครดิตตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Bond Country Ceiling) ที่ระดับ A3 และระดับเครดิตของเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit Ceiling) ที่ระดับ Baa1 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2551

โดยเหตุผลหลักของการปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตดังกล่าวข้างต้นอันเนื่องมาจากการขาดเสถียรภาพทางการเมืองผนวกกับภาวะวิกฤติการเงินโลกจากการเข้ายึดครองสนามบินนานาชาติทั้ง 2 แห่งของประเทศไทยโดยกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลนับตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณียุบเลิกพรรคการเมือง 3 พรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล การที่ยังไม่มีผู้นำในการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการล้วนส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

สบน. พิจารณาแล้วเห็นว่า

(1) การปรับลดแนวโน้มเครดิตของประเทศไทยเป็นลบของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้ง 5 แห่งดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าจะยังไม่มีผลต่อระดับเครดิตของประเทศ แต่เป็นการส่งสัญญาณอันตรายต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศในเศรษฐกิจไทย และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะนำไปสู่การปรับลดเครดิตของประเทศในที่สุด

(2) การคลี่คลายของปัญหาความไม่สงบทางการเมืองและการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับ น่าจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง แต่คงไม่สามารถทำให้แนวโน้มเครดิตของประเทศกลับมาสู่ระดับเสถียรภาพเช่นเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว

(3) จุดแข็งของประเทศไทยในมุมมองของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทุกแห่งมี 2 ประการ ได้แก่ (i) ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบกับหนี้ต่างประเทศ และ (ii) การรักษาวินัยทางการคลังซึ่งวัดจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น นโยบายรัฐบาลในระยะต่อไปจะต้องมุ่งเน้นการรักษาความเข้มแข้งใน 2 ด้านนี้

(4) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะเข้ามาประเมินเครดิตของประเทศครั้งต่อไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 รัฐบาลจะต้องใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สบน. คาดว่า อาจต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนที่ประเทศไทยจะกลับมามีแนวโน้มเครดิตในระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

กระทรวงการคลัง

0-2265-8050 ต่อ 5510

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 96/2551 9 ธันวาคม 51--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ