เศรษฐกิจสหรัฐกำลังโคม่า แต่ว่าดอลล่าร์กลับแข็งโป๊ก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 16, 2008 14:54 —กระทรวงการคลัง

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจมยิ่งกว่าเรือไททานิคและโพไซดอนรวมกันจนกลายเป็นการถดถอยทางเศรษฐกิจที่จมลึกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่ว่าค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐกลับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบหลาย ๆ ปี

เศรษฐกิจสหรัฐกำลังแสดงถึงความตกต่ำและความอ่อนแอโดยการบริโภคของภาคเอกชนตกต่ำสุดในเดือนตุลาคมและมากที่สุดตั้งแต่การถดถอยทางเศรษฐกิจเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ยอดคำสั่งซื้อลดลงถึงร้อยละ 1 ในเดือนตุลาคมหลังจากที่ตกลงถึงร้อยละ 0.3 ในเดือนกันยายน การสั่งซื้อสินค้าคงทนถาวร ยอดขายบ้านใหม่ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงเป็นประวัติการณ์

การใช้จ่ายที่ตกต่ำลงที่สุดในรอบ 30 ปี คงจะดำเนินต่อไป ในขณะที่ราคาบ้านลดลงและการตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่ายอดการซื้อและขายของในช่วงคริสต์มาสและวันหยุดปีใหม่คงจะแย่จนดูไม่จืด ความต้องการภายในประเทศที่ลดต่ำลงอย่างมากนี้ ทำให้ธนาคารกลาง กระทรวงการคลัง และว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐกำลังหาแผนการที่จะลดวิกฤตการณ์ของสินเชื่อในครั้งนี้ ผู้บริโภคของสหรัฐยังคงชะลอการใช้จ่ายต่อไป จากรายงานการใช้จ่ายของครัวเรือนสหรัฐตอกย้ำว่า อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความต้องการภายในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก ดัชนีชี้วัดระดับราคาที่อิงกับการซื้อทั่วประเทศในเดือนตุลาคมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสัญญานชี้ให้เห็นว่าอาจเกิดภาวะเงินฝืดได้ในอนาคต

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังแย่ แต่โลกกลับต้องการเงินดอลล่าร์มากขึ้น และรัฐบาลสหรัฐก็ตอบสนองอย่างเต็มที่ ในขณะที่ทางการสหรัฐกำลังต่อสู้กับวิกฤตการณ์ของทุนนิยมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดหลังจากการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของโลกครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบ 80 ปีที่แล้ว สหรัฐกำลังรับบทบาทของการเป็นทั้งผู้ให้กู้ยืมและผู้กู้ยืมแหล่งสุดท้ายของเศรษฐกิจโลก

ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐได้ปั๊มเงินดอลล่าร์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกไปแล้วหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังดำเนินนโยบายต่อไปที่จะท่วมระบบการเงินโลกด้วยดอลล่าร์ที่มากขึ้น กระทรวงการคลังสหรัฐจะกู้เงินจำนวน 1.5 แสนล้านในปีนี้ และอาจจะต้องเข้าไปกู้ในตลาดทุนโลกเพิ่มขึ้นอีก เพื่อนำเงินมาสนับสนุนมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือสถาบันการเงินจำนวน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

จะเห็นได้ว่า ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับภัยคุกคามของการล้มเหลวและภาวะเงินฝืดของเศรษฐกิจโลก เป็นไปได้อย่างมากว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจลดดอกเบี้ยการกู้ยืมข้ามคืนให้เหลือร้อยละ 0 ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ และยังคงตึงอัตราดอกเบี้ยนี้ไว้ตลอดปีหน้า ทั้งธนาคารกลางและกระทรวงการคลังสหรัฐถูกจำนนโดยสถานการให้ต้องออกมาตรการพิเศษที่ไม่เคยทำมาก่อน เพราะว่ามาตรการที่ผ่านมาประสบความล้มเหลวที่จะกอบกู้สถานการให้ดีขึ้น ทั้งตลาดสินเชื่อไม่ทำงาน ราคาหลักทรัพย์ตกต่ำ และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเต็มที่

ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่เช่นนี้ ภาวะเงินฝืดอันเนื่องมาจากระดับราคาสินค้าและค่าแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง กำลังกลายเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ของโลก จากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคที่ลดต่ำลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1982 เป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกได้ชัด

นักลงทุนทั่วโลกซึ่งยังคงช้อคกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หันกลับไปใส่เงินในหลักทรัพย์หรือตั๋วเงินคลังของรัฐบาลสหรัฐ (US Treasury) ทั้ง ๆ ที่รัฐบาลของสหรัฐกลับส่งเงินดอลล่าร์สหรัฐจำนวนมากออกนอกประเทศ ตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือนของสหรัฐ มีอัตราผลตอบแทนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตกต่ำไปถึงร้อยละ 0.01 ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนที่ต่ำที่สุด ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1940 และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐที่มีอายุระหว่าง 2-30 ปี ทั้งหมดตกไปจนถึงจุดต่ำสุด ตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐเริ่มการขายตราสารหนี้ออกมา

แต่ที่เหนือความคาดหมายก็คือ ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐยังคงแข็งโป๊กอย่างต่อเนื่อง เพราะทุก ๆ คน และสถาบันการเงินในโลก ต่างหันกลับมาถือครองเงินดอลล่าร์สหรัฐ เงินดอลล่าร์สหรัฐเพิ่มขึ้นไปแล้ว ร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับเงินยูโร และยังมีสัญญาณของความต้องการเงินดอลล่าร์สหรัฐเพิ่มขึ้นในอนาคต และราคาทองคำลดลงไปแล้วร้อยละ 25 จากจุดสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมคิดว่า ดอลล่าร์สหรัฐน่าจะเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยที่สุดในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าครับ

โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ fsa@fpo.go.th

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ