แผนแม่บทการเงินระดับฐานราก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 21, 2008 11:47 —กระทรวงการคลัง

1.บทนำ

องค์กรการเงินระดับฐานราก เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของประชาชนด้วยความสมัครใจ เพื่อร่วมมือกันบนหลักการพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการแก้ปัญหาด้านการเงินของคนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของระบบการเงินพาณิชย์ทั่วไปได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้หรือไม่อยู่ในเงื่อนไขข้อกำหนดของสถาบันการเงินเหล่านั้น สถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้คนเหล่านั้นตกอยู่ในสถานะลำบากมากขึ้น เนื่องจากต้องหันไปพึ่งแหล่งเงินทุนนอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูง และก่อให้เกิดภาระหนี้สินพอกพูนมากขึ้นจนไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ปัจจุบันประชาชนในชุมชนต่างๆ จำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินพาณิชย์ทั่วไป จึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นองค์กรการเงินระดับฐานรากเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในกลุ่มหรือชุมชน โดยมีหลักการดำเนินงานคล้ายๆ กัน กล่าวโดยทั่วไปคือ จะรับฝากเงินจากสมาชิกในลักษณะของการออม และนำเงินฝากเหล่านั้นปล่อยกู้ให้กับสมาชิกที่มีความต้องการใช้เงิน เพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือนำไปปลดหนี้เงินกู้นอกระบบ องค์กรการเงินระดับฐานรากสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีความเข้มแข็งและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และกลุ่มที่ยังจต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก

ประโยชน์ขององค์กรการเงินระดับฐานรากต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีหลายด้าน เช่น ส่งเสริมให้มีการจัดการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมวินัยด้านการออม เพิ่มโอกาสของสมาชิกขององค์กรการเงินระดับฐานรากที่จะได้รับความสะดวกในการฝากเงินและสามารถกู้เงินได้ โดยไม่ต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน และยังมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ รวมทั้งยังมีการจัดสวัสดิการในเรื่องต่างๆ ให้กับสมาชิก เช่น สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและการจัดกิจกรรมทางสังคมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ตลอดจนช่วยเสริมให้กลไกตลาดสมบูรณ์ ช่วยขับเคลื่อนให้ประชาชนในชนบทมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และที่สำคัญ คือ เสริมสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนในชนบท ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง

องค์กรการเงินระดับฐานรากเริ่มมาจากความต้องการของชุมชนในการดำเนินชีวิตและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามประเพณีและความเชื่อในแต่ละท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะฉะนั้นการดำเนินการใดๆ รวมทั้งพยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งขององค์กรการเงินระดับฐานรากนั้น จะต้องดำรงไว้ซึ่งปรัชญา ภูมิปัญญา และคุณค่าของท้องถิ่นเป็นหลัก

2.เหตุผลความจำเป็น

ในประเทศไทยมีบริการทางการเงินสำหรับประชาชนและชุมชนในระดับฐานรากอยู่เป็นจำนวนมากและมีลักษณะและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มในระบบ ได้แก่ สถาบันการเงินที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน เฉพาะกิจของรัฐ ที่รับฝากเงินและให้สินเชื่อแก่บุคคลทั่วไป 2.กลุ่มกึ่งในระบบ ได้แก่ สถาบันที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมและการใช้เงินทุนภายในชุมชนโดยภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการจัดตั้ง อันประกอบด้วยสหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 3.กลุ่มพึ่งตนเอง มีวัตถุประสงค์ในการออมและให้บริการทางการเงินภายในชุมชนโดยการจัดตั้งของชุมชนเอง อันประกอบด้วยองค์กรการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือกลุ่มในระบบชุมชน

ทั้งนี้ องค์กรการเงินระดับฐานรากที่แผนแม่บทการเงินระดับฐานรากมุ่งเน้นส่งเสริม หมายถึง กลุ่มกึ่งในระบบและกลุ่มพึ่งตนเอง ประกอบด้วย สหกรณ์ สหกรณ์เครดิตยูเนียน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตและกลุ่มออมทรัพย์ทั่วไป ซึ่งการบริหารจัดการมีทั้งที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของทางราชการ และที่ประชาชนในชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงเกณฑ์ความมั่นคงทางการเงิน จึงส่งผลให้การดำเนินงานมีทั้งที่เข้มแข็งและที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ซึ่งกลุ่มการเงินที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอประสบปัญหาพร้อมกันจำนวนมาก จะทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากเสียหายและก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีก จึงจำเป็นต้องหาแนวทางส่งเสริมหรือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ องค์กรการเงินระดับฐานรากเหล่านี้

เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้องค์การเงินระดับฐานรากเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชน โดยองค์กรการเงินระดับฐานรากอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินงานด้วยตนเอง มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อเกื้อกูลช่วยเหลือกันเพื่อพัฒนาระบบการเงิน ระดับฐานรากไปสู่ระบบการเงินระดับชาติ เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องมีกรอบทิศทางในการให้การสนับสนุนส่งเสริมให้องค์การเงินระดับฐานรากมีศักยภาพและมีความเข้มแข็ง ดังนั้น แผนแม่บทการเงินระดับฐานรากนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญที่จะกำหนดกรอบแนวคิดของการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก ยุทธศาสตร์ และแนวทางการพัฒนาที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องจะได้รับรู้และนำไปใช้เป็นแนวทางการกำหนดแผนงานโครงการที่จะจัดสรรงบประมาณ กำลังคนในการให้การสนับสนุนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อการบรรลุเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนเป็นการกำหนดแนวทางและมาตรการอันจะนำไปสู่การทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมการพัฒนาองค์กรการเงินระดับฐานรากไปในทิศทางที่ชุมชนต้องการ ซึ่งเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

3.แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์

การจะพัฒนาประเทศต่อไปอย่างยั่งยืนนั้น มีปัจจัยในความสำเร็จคือการส่งเสริมให้คนไทย สามารถบริหารจัดการตนเองได้ในทุกระดับ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการให้โอกาสแก่ชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาตนเองโดยทั้งนี้ภาครัฐพร้อมที่จะสนับสนุนในทุกด้าน รวมถึงด้านแหล่งเงินทุน ส่งเสริมการวิเคราะห์วิจัยด้านการผลิตและการตลาด โดยมีแนวคิดในการพัฒนาบนพื้นฐานของความเชื่อดังต่อไปนี้

3.1 ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงแข็งแกร่งก็ต่อเมื่อประชาชนระดับฐานรากมีค่านิยมในการส่งเสริมการออม การประหยัด และสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองและดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้มีการประสานสายใยในชุมชนและนำไปสู่ความมั่นคงทางสังคม อันจะทำให้ชุมชนและประเทศชาติสามารถทนทานต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกในยุคโลกาภิวัฒน์ สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างสมดุลและยั่งยืน

3.2 คนในชุมชนสามารถพัฒนาไปสู่การพึ่งตนเอง และมีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในชุมชนและระหว่างชุมชนกับชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมประสานและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของทั้งประเทศร่วมกัน

3.3 บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมความมั่นคงขององค์กรชุมชนระดับฐานรากควรมุ่งส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามความต้องการในแต่ละท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นแสวงหาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชนรวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนกับภาคีที่เกี่ยวข้องซึ่งจะส่งผลให้มีการร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและสังคม

3.4 ในการพัฒนาศักยภาพองค์กรการเงินระดับฐาน ควรส่งเสริมให้องค์กรการเงินระดับฐานรากมีอิสระในการตัดสินใจแต่ยังคงมุ่งส่งเสริมให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสังคม ดังนั้น หากจำเป็นจะต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคล ชุมชน หรือหน่วยงานอื่น ซึ่งมีกฎระเบียบเป็นมาตรฐานของสังคมหรือของประเทศก็จะต้องมุ่งส่งเสริมองค์กรเหล่านั้นสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

4.วัตถุประสงค์ของแผนฯ

4.1 กำหนดและเสนอแนวนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้องค์กรการเงินระดับฐานรากเป็นเครื่องมือหลักของชุมชนในการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการสืบสานศิลปวัฒนธรรม และขนมธรรมเนียมของท้องถิ่นอันเป็นสิ่งมีคุณค่ายิ่งของชาติ โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางและเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนา

5.เป้าหมายของแผนฯ

5.1 องค์กรการเงินระดับฐานรากมีคุณภาพและสามารถจัดการระบบการเงินและสวัสดิการชุมชนแก่ชุมชน เป็นกลไกในการรณรงค์ให้ประชาชนมีวินัยในการออมและการบริโภค ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งการเข้าสู่แหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึง

5.2 องค์กรการเงินระดับฐานรากสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองและบูรณาการด้านการเงินอย่างยั่งยืน

5.3 เกิดการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เพื่อให้มีการเกื้อกูลกันระหว่างกลุ่มและสู่ระดับชาติในทิศทางที่เหมาะสม

5.4 เครือข่ายองค์กรการเงินระดับฐานรากมีศักยภาพและความเข้มแข็ง

5.6 ระบบการเงินระดับฐานรากมีความมั่นคงก้าวหน้า สามารถเป็นฐานรากและฐานองค์ประกอบให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมมีความเจริญอย่างสมดุลและยั่งยืน

6.ระยะเวลาของแผนฯ

แผนแม่บทการเงินระดับฐานรากเป็นแผนระยะปานกลาง มีระยะเวลา 4 ปี ระหว่างปี 2551-2554 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบทิศทางสำหรับการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมองค์กรการเงินฐานราก โดยไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

7.องค์ประกอบของแผนฯ

แผนแม่บทการเงินระดับฐานรากจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ

ส่วนที่ 1 บทวิเคราะห์สภาวะปัจจุบันและความต้องการของระบบการเงินระดับฐานราก

ส่วนที่ 2 บทบาทของหน่วยงานภาครัฐและภาคีในการสนับสนุน

ส่วนที่ 3 แผนสนับสนุนพัฒนาการเงินระดับฐานรากของภาครัฐและภาคี(Synergy)

ส่วนที่ 1: บทวิเคราะห์สภาวะปัจจุบันและความต้องการของระบบการเงินระดับฐานราก

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่าแผนแม่บทการเงินระดับฐานรากจะมุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรการเงินระดับฐานราก 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มกึ่งในระบบ เช่น สหกรณ์ เครดิตยูเนียน และ 2) กลุ่มพึ่งตนเอง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ แต่เนื่องจากสถานภาพและความต้องการในการส่งเสริมและพัฒนาของทั้ง 2 กลุ่มยังมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบแนวทางที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหกรณ์และเครดิตยูเนียน ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลมีกฎหมายรองรับสถานภาพและมีการดำเนินงานที่เป็นระบบ ซึ่งสรุปภาพโดยรวมได้ดังนี้

สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไทย ปี 2548 รวม 14,650 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ 7,244 แห่ง และกลุ่มเกษตรกร 7,406 แห่ง สมาชิกทั้งสิ้น 9.6 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 14.82 ของประชากรทั่วประเทศ แยกเป็นสมาชิกอยู่ในภาคเกษตร 6.4 ล้านคน นอกภาคเกษตร 3.2 ล้านคน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนสมาชิกอยู่มากที่สุดถึงร้อยละ 35.41 ของสมาชิกสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ

ธุรกิจหลักของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

รับฝากเงิน: ณ สิ้นปี 2548 มียอดเงินฝากจำนวนกว่า 179,388 ล้านบาท ซึ่งในปี 2548 เงินฝากขยายตัวร้อยละ 12 และในรอบ 3 ปี(2546-2548) มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 144,649 ล้านบาท ในปี 2546 มาอยู่ที่ 179,388 ล้านบาท ในปี 2548 และคาดว่าในปี 2549 จะยังเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

สินเชื่อ: ณ สิ้นปี 2548 ยอดสินเชื่อคงค้างจำนวนกว่า 559,358 ล้านบาท ซึ่งในปี 2548 สินเชื่อโตร้อยละ 8 และในรอบ 3 ปี(2546-2548) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจาก 453,563 ล้านบาท ในปี 2546 มาอยู่ที่ 559,358 ล้านบาท ในปี 2548 และคาดว่าในปี 2549 จะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย: มีมูลค่ากว่า 33,450 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ธุรกิจจัดซื้อสินค้าอุปโภค/บริโภคมาจำหน่ายให้แก่สมาชิก เติบโต้ร้อยละ 20 และในรอบ 3 ปี (2546-2548) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 24,309 ล้านบาทในปี 2546 มาอยู่ที่ 33,450 ล้านบาท ในปี 2548 และคาดว่าในปี 2549 จะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

รวบรวมผลิตผลเพื่อจำหน่าย: ณ สิ้นปี 2548 มีมูลค่ากว่า 38,514 ล้านบาท ซึ่งในปี 2548 มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 32 และในรอบ 3 ปี(2546-2548) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23,624 ล้านบาท ในปี 2546 มาที่ 38,514 ล้านบาท ในปี 2548 และคาดว่าในปี 2549 จะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

การให้บริการ: ในปี 2548 มีมูลค่ากว่า 1,556 ล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการทั่วไปแก่สมาชิก โดยในรอบ 3 ปี(2546-2548) มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดจาก 1,110 ล้านบาท ในปี 2546 มาที่ 1,556 ล้านบาท ในปี 2548 และคาดว่าในปี 2549 จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ฐานะและการดำเนินงานของระบบสหกรณ์

1.ความเพียงพอของเงินทุนต่อความเสี่ยง สถาบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไทย มีทุนดำเนินงานกว่า 723,604 ล้านบาท แยกเป็นแหล่งทุนภายในร้อยละ 82.90 และทุนภายนอกรั้อยละ 17.10 หากพิจารณาถึงความเข้มแข็งและเพียงพอต่อความเสี่ยงของเงินทุน นับว่าไม่เสี่ยง เนื่องจากมีหนี้สินทั้งสิ้นต่อทุนของสถาบันเพียง 0.96 เท่า และมีทุนสำรองต่อสินทรัพย์ทั้งสิ้น 0.05 เท่า มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของทุนร้อยละ 6.94

2.คุณภาพสินทรัพย์ เงินทุนดำเนินงานส่วนใหญ่ลงทุนไปกับการให้สินเชื่อและให้เครดิตการค้ามากที่สุดกว่า 589,341 ล้านบาท หรือร้อยละ 81.44 ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ถึงร้อยละ 31.61 ของหนี้ถึงกำหนดชำระ และมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เพียงร้อยละ 3.58 ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำและส่งผลต่อฐานะทางการเงินของสหกรณ์ ดังนั้น สหกรณ์จึงจำเป็นต้องมีระบบในการบริหารจัดการลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้มีอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น

3.ความสามารถในการบริหารจัดการ สหกรณ์ดำเนินธุรกิจให้บริการสมาชิก 5 ด้าน มีมูลค่ารวม ณ สิ้นปี 2548 กว่า 812,266 ล้านบาท ประกอบด้วยธุรกิจให้กู้ยืม 559,358 ล้านบาท รองลงมา ธุรกิจการรับฝากเงิน 179,388 ล้านบาท รวบรวมผลผลิต/ผลิตภัณฑ์ 38,514 ล้านบาท จัดซื้อสินค้ามาจำหน่าย 33,450 ล้านบาท และธุรกิจให้บริการอื่น 1,556 ล้านบาท ตามลำดับ โดยรวมสมาชิกจะให้ความสำคัญกับธุรกิจสินเชื่อมากที่สุดถึงร้อยละ 68.86

4.ความสามารถในการทำกำไร ปี 2548 ถือว่าประสบความสำเร็จมีกำไรมากกว่าขาดทุน คือ มีกำไร 6,931 แห่ง เป็นเงินกว่า 25,190 ล้านบาท ขาดทุน 2,724 แห่ง เป็นเงินกว่า 604 ล้านบาท อีก 872 แห่ง ไม่ดำเนินงาน และมีรายได้รวมเฉลี่ยต่อสมาชิก 12,237 บาทต่อคน ค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยต่อสมาชิก 9,686 บาทต่อคนและมีกำไรเฉลี่ยต่อสมาชิก 2,552 บาทต่อคน แม้โดยรวมองค์กรจะมีความสามารถทำกำไรได้แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนของเงินออมเฉลี่ย 53,946 บาทต่อคน กับ หนี้สินเฉลี่ย 60,507 บาทต่อคน มีความไม่สมดุลกัน เงินออมน้อยกว่าหนี้สิน ประกอบกับในรอบปีมีอัตราการกู้ยืมเงินของสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงกำลังความสามารถชำระหนี้สินของสมาชิกในอนาคต ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของสถาบัน รวมถึงต้องระมัดระวังในเรื่องของค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมเพราะมีอัตราค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะภาคเกษตรมีอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงถึงร้อยละ 97.63

5.สภาพคล่องทางการเงิน อยู่ในระดับต่ำ คือ มีสัดส่วนของสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียนในอัตราที่ 0.68 เท่า แต่อย่างไรก็ตามสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ ดังนั้นการแปรสภาพเป็นเงินสดจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการบริหารลูกหนี้เป็นสำคัญมีลูกหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ชำระหนี้ได้ตามกำหนด คิดเป็นร้อยละ 68.39 ของลูกหนี้ที่ถึงกำหนดชำระทั้งสิ้น

6.ผลกระทบของธุรกิจ ในปี 2548 ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ทั้งราคาน้ำมัน และการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ และไข้หวัดนก ซึ่งมีส่วนส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจบ้าง จึงต้องเฝ้าระมัดระวัง และติดตามดูแลสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับความพยายามในการสร้างวินัยทางการเงินและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มากขึ้น

คุณภาพของสถาบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร

คุณภาพการควบคุมภายในของสถาบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีระดับดี-ดีมากร้อยละ 43.08 ระดับมาตรฐานร้อยละ 27.28 และอีกร้อยละ 29.64 ระดับต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากส่วนใหญ่ขาดพนักงานบัญชีร้อยละ 71.08 โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเกินกว่าครึ่งไม่มีพนักงานบัญชี ส่งผลต่อประสิทธิภาพ การบริหารองค์กรขาดความต่อเนื่อง และขาดข้อมูลเพื่อการบริหารงานที่ถูกต้องครบถ้วนทันเหตุการณ์ประกอบการตัดสินใจ การกำหนดนโยบายและแผนงานควรต้องปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินงานของสหกรณ์ในอนาคต

แนวโน้มปี 2549

ปี 2549 คาดว่าสถานการณ์และกลุ่มเกษตรกรไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้บนพื้นฐานที่แน่นขึ้นต่อเนื่องจาก ปี 2548 โดยพิจารณาข้อมูลอัตราการเติบโตของจำนวนสมาชิก ทุนของสถาบัน ธุรกิจ รายได้และกำไร ในรอบ 5 ปี(พ.ศ.2544-2548) พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี และมีทิศทางการเติบโตไปในทางเดียวกัน โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95, 11.55,16.05, 6.02 และ 0.56 ตามลำดับ มูลค่าของธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุด จาก 561,155 ล้านบาทต่อปี ในปี 2544 เป็น 812,266 ล้านบาทต่อปี ในปี 2548 คาดว่าในปี 2549 จะมีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2548

จากข้อมูลภาพรวมของกลุ่มกึ่งในระบบ ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จะเห็นได้ว่าสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่มีคุณภาพในการบริหารจัดการในระดับที่ดีและประมาณร้อยละ 29.64 อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ด้านบุคลากรที่มี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ