รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 11:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ม.ค. 2552

SUMMARY:
  • ธปท. เผยนักธุรกิจมองเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส1/52 ชะลอตัวต่อเนื่อง
  • ส่งออกรถยนต์ปี 51 เติบโตร้อยละ 17 คาดการณ์ปี 52 ยอดทรุดตัว
  • เศรษฐกิจเกาหลีใต้ทรุด GDP ไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวมากสุดในรอบ 10 ปี
HIGHLIGHT:
1. ธปท. เผยนักธุรกิจมองเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส1/52 ชะลอตัวต่อเนื่อง
  • ธปท. เผยนักธุรกิจมองเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 1/52 การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะมีการชะลอตัว จะส่งผลให้ระดับการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะยังคงรักษาแรงงานหลักไว้ มีเพียงการปรับลดเวลาการทำงานและลดจำนวนคนงานประเภทSub-contract ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงคือ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส1/52 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 ตามภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบผ่านช่องทางการส่งออกสินค้า ต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการจ้างงาน โดยรัฐบาลได้มี 1) มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี 1.16 แสนล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ต่อปี จากกรณีฐาน และ 2) มาตรการภาษี ที่ครอบคลุมทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ SMEs-วิสาหกิจชุมชน และภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าเม็ดเงินรายได้จากภาษีที่หายไปจะกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และจะส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ต่อปี จากกรณีฐาน
2. ส่งออกรถยนต์ปี 51 เติบโตร้อยละ 17 คาดการณ์ปี 52 ยอดทรุดตัว
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่าตลาดส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มไม่ดี หลังจากยอดเดือน ธ.ค.51 อยู่ที่ 4.32 หมื่นคัน หดตัวร้อยละ -36 ต่อปี ขณะที่มูลค่าลดลงร้อยละ -42 ต่อปี เนื่องจากตลาดหลักได้ลดการสั่งซื้อจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป อเมริกากลางและใต้ ทั้งนี้ มูลการส่งออกรถยนต์ในปี 51 เท่ากับ 5.16 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และยอดผลิตรถยนต์ปี 51 มี 1.39 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 โดยส่งออกร้อยละ 56 ของการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ดี ในปี 52 คาดการผลิตในส่วนรถยนต์ 1.08 ล้านคัน ลดลงร้อยละ -22 โดยส่งออก 5.92 แสนคัน ลดลงร้อยละ -24 และจำหน่ายในประเทศ 4.88 แสนคัน ลดลงร้อยละ -13
  • สศค. วิเคราะห์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกรวมทั้งไทย (มีสัดส่วนการจำหน่ายเพื่อส่งออกประมาณร้อยละ 50 และมีสัดส่วนร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวม) และจะกระทบไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ทั้ง Forward & Backward Linkage ทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก พลาสติก ยางรถยนต์ ตลอดจนการจ้างงาน (ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ที่แรงงานกว่า 2 แสนคน)
3. เศรษฐกิจเกาหลีใต้ทรุด GDP ไตรมาส 4 ปี 51 หดตัวมากสุดในรอบ 10 ปี
  • GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 4 ปี 51 หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี โดยชะลอลงจากร้อยละ 3.8 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 ปี 51 (ตัวเลขปรับปรุง) และถ้าเทียบอัตราการขยายตัวรายไตรมาส GDP ไตรมาส 4 จะหดตัวที่ร้อยละ -5.6 จากไตรมาส3 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 (ตัวเลขปรับปรุง) ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยทางด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบหนึ่งในสามของ GDP มีการหดตัวที่ร้อยละ -9.2 ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี ทางด้านอุปสงค์ การลงทุนและการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 28.1 และร้อยละ 61.3 ของ GDP หดตัวถึงร้อยละ -14.0 และร้อยละ -11.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ทั้งปี 2551 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีการเติบโตที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ซึ่งเพิ่งแสดงสัญญาณหดตัวในไตรมาส 4 นั้น เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกถึงประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำจึงส่งผลต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างรุนแรง ประกอบกับภาคการเงินเกาหลีใต้มีการลงทุนในตราสารอนุพันธุ์ที่สูง วิกฤตการเงินโลกจึงส่งผลกระทบต่อภาคการเงินของเกาหลีใต้อีกทางหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบถึง 2 ทาง ในฐานะที่เกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับ 11 มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม การส่งออกของไทยไปยังเกาหลีใต้จึงอาจได้รับผลกระทบทั้งนี้ สศค.คาดว่า ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน ม.ค.52)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ