โครงสร้างระบบสถาบันการเงินในญี่ปุ่นปัจจุบัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2009 14:37 —กระทรวงการคลัง

สถาบันการเงินของประเทศญี่ปุ่นปัจจุบันประกอบด้วย ธนาคารกลาง (Central Bank) หรือ Bank of Japan สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล และสถาบันการเงินของเอกชน รายละเอียด ดังนี้

1 สถาบันการเงินของเอกชน แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่

1.1 ธนาคารพาณิชย์ ประกอบธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ ได้แก่ 1) City Banks เป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่มีจำนวน 4 รายประกอบด้วย Mitsubishi UFJ Banking Corporation, Sumitomo Mitsui Banking Corporation, Mizuho Banking Corporation และ Resona Bank

2) Regional Banks เป็นธนาคารท้องถิ่น จัดตั้งโดยนักธุรกิจท้องถิ่นในจังหวัดต่างๆ มีจำนวน 64 ราย

3) ธนาคารที่เป็นสมาชิกกลุ่มธนาคารท้องถิ่น (Member Banks of the Second Association of Regional Banks) มีจำนวน 45 ราย

4) ธนาคารบริหารทรัพย์สิน (Trust Banks) จัดตั้งโดยกฎหมาย Trust Banks มีจำนวน 20 ราย

5) สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (Foreign Banks ) มีจำนวน 64 ราย

6) Other Banks มีจำนวน 13 ราย

1.2 สหกรณ์และธนาคารกลางสหกรณ์ ที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือของสมาชิก ประกอบด้วย

1) ธนาคารกลางของธนาคารสหกรณ์ (Shinkin Central Bank) จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของธนาคารสหกรณ์ โดยกระดมเงินทุนและให้สินเชื่อแก่ Shinkin Bank ที่เป็นสมาชิก เพื่อให้สินเชื่อแก่ SMEs และสินเชื่อ Micro Credit ในท้องถิ่นมีจำนวน 280 ราย

2) ธนาคารกลางของสหกรณ์สินเชื่อต่างๆ (Shinkumi Federation Bank Credit Cooperatives มีจำนวน 164 ราย

3) ธนาคารกลางของธนาคารแรงงาน (Rokiren Bank Labor Banks) จำนวน 13 ราย

4) ธนาคารกลางของสหกรณ์การเกษตร การป่าไม้และประมง (Norinchukin Bank)

5) สมาคมสินเชื่อสหกรณ์การเกษตรต่างๆ (Credit Federations of Agricultural Cooperatives มีจำนวน 38 ราย

6) สหกรณ์การเกษตร (Agricultural Cooperatives) มีจำนวน 794 ราย

7) สมาคมสินเชื่อสหกรณ์การประมง (Credit Federations of Fishery Cooperatives) มีจำนวน 30 ราย

8) สหกรณ์การประมง (Fishery Cooperatives) มีจำนวน 174 ราย

เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า Agricultural Cooperatives หรือสหกรณ์การเกษตร มีสาขาทั่วประเทศมากที่สุดถึง 794 สาขา รองลงมากเป็น Shinkin Bank หรือธนาคาร SMEs มีจำนวน 280 สาขานอกจากนี้ ยังมีสถาบันการเงินประเภทอื่นได้แก่ บริษัทประกันภัย (Insurance Companies) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ บริษัทประกันชีวิต (Life Insurance Companies) มีจำนวน 38 ราย กับบริษัทประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance Companies) มีจำนวน 48 ราย บริษัทหลักทรัพย์ (Securities Companies) จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง Non-bank Business เช่น บริษัทที่ให้บริการกู้เงิน Lending Company) บริษัทบัตรเครดิต เป็นต้น

2 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเอกชนได้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการสนับสนุนสาขาธุรกิจบางสาขาที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ได้แก่

1) Japan Finance Corporation (JFC) เกิดจากการควบรวมของสถาบันการเงินเฉพาะกิจจำนวน 4 แห่งได้แก่ 1. Japan Bank of International Cooperation: JBIC, 2.บรรษัทเงินทุนเพื่อลูกค้าขนาดย่อมหรือ Micro Credit (National Life Finance Corporation), 3.บรรษัทเงินทุนเพื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (Japan Finance Corporation for Small and Medium Enterprises), 4. บรรษัทเงินทุนเพื่อการเกษตร ป่าไม้และประมง (Agriculture, Forestry, and Fisheries Finance Corporation) โดย JFC ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมาได้แบ่งหน้าที่ออกเป็น 4 ฝ่ายใหญ่ตามหน้าที่เดิมของแต่ละหน่วยงาน ยกเว้น JBIC ที่ได้แบ่งฝ่ายที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเงินกู้ Yen Loan ภายใต้ ODA ไปควบรวมกับ JICA (ภายใต้กระทรวงการ ต่างประเทศ) ในปัจจุบัน และเหลือเพียงฝ่าย EXIM ไว้ใน JFC

2) บรรษัทเงินทุนเพื่อพัฒนาเกาะโอกินาวา (Okinawa Development Finance Corporation) เป็นสถาบันการเงินที่มีกำหนดจะควบรวมกับ JFC ในปี 2555 (2012)

3) บรรษัทเงินทุนเพื่อวิสาหกิจของเทศบาล (Japan Finance Corporation for Municipal Enterprises) ปัจจุบันกำลังปรับปรุงโครงสร้างจากสถาบันการเงินที่บริหารโดยรัฐบาลกลางเป็นสถาบันการเงินที่บริหารโดยรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งนี้ รัฐบาลกลางจะยุติบทบาทการสนับสนุนการระดมเงินทุนไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินโดยตรง หรือการค้ำประกันการออกพันธบัตรของท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายที่จะให้บรรษัทเงินทุนเพื่อวิสาหกิจของเทศบาล ระดมเงินทุนจากตลาดทุนในอนาคต

4) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan: DBJ) เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ระหว่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยได้ถูกแปลงเป็นบริษัทเอกชนที่ถือหุ้นโดยรัฐบาลตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2551 และจะลดการถือหุ้นของรัฐบาลลงในปี 2556 จนกลายเป็น เอกชนสมบูรณ์ภายในปี 2558

5) ธนาคาร SMEs (Shoko Chukin Bank) ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกันกับ DBJ

6) Japan Post Bank Co. และ Japan Post Insurance Co. ซึ่งเป็นผลมาจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ของ Japan Post เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 โดยจะทยอยขายหุ้นของบริษัทย่อยดังกล่าวในปีงบประมาณ 2553 จนกระทั่งแปรรูปเป็นเอกชนทั้งหมดภายในปี 2560 Japan Post Bank Co.เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีขนาดใหญ่กว่าสินทรัพย์มากกว่า 300 ล้านล้านเยน ซึ่งมากกว่าของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นเอกชนรายใหญ่ 3 อันดับแรกรวมกัน

สถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นปัจจุบัน

ในช่วงแรกของการเกิดวิกฤต Subprime ธนาคารพาณิชย์ ญี่ปุ่นไม่ได้รับความเสียหายมากนักอย่างไรก็ตาม ภายหลังที่วิกฤต Subprime ได้ลุกลามไปถึงภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Sector) ภาคการส่งออกของญี่ปุ่นได้ลดลงอย่างมาก จนเริ่มขาดดุลทางการค้า ราคาสินทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงอย่างมาก ในขณะที่ NPLs ได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ก่อนเกิดวิกฤตการเงิน ธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นได้ให้บริการคำปรึกษาการลงทุนแก่นักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในต่างประเทศให้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนในญี่ปุ่นต่ำ หรือที่เรียกว่า Yen carry Trade ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างมาก พร้อมๆกับการขยายธุรกิจของธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินมีผลให้การขยายกิจการของธนาคารต่างประเทศในญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมาก และ Yen carry Trade ก็ได้ลดลง ในทางกลับกันได้มีธนาคารญี่ปุ่นได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงิน เช่น ธนาคาร Mitsubishi UFJ Financial Group Inc.เข้าถือหุ้นร้อยละ20ใน Morgan Stanley และ Mizuho ญี่ปุ่นเข้าซื้อ หุ้นของ Merrill Lynch & Co. เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเงินได้ทำให้ผลกำไรของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นรายใหญ่ 6 อันดับแรกหรือ Mega Banks ลดลงถึงร้อยละ 58 ในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ(1 เม.ย.-30 ก.ย.51) และต้องเพิ่มทุนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย

Financial Services Agency: FSA หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า NPLs ในระบบธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น 11 แห่ง ณ เดือน ก.ย. 51 อยู่ที่ระดับร้อยละ1.52 เพิ่มขึ้นจาก มี.ค.51 อยู่ที่ระดับร้อยละ 1.38 สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) ณ เดือน ก.ย. 51 อยู่ระหว่างร้อยละ 11.73 สูงกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ร้อยละ 8 แสดงว่าระบบ ธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นโดยรวมยังแข็งแกร่งอยู่ อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 NPLs ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ จำนวน 6 แห่ง และธนาคารท้องถิ่นในญี่ปุ่น (Regional Bank) ประจำจังหวัดใหญ่ๆ รวมกันแล้ว เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในญี่ปุ่น ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยเงินกู้มากขึ้น

แนวโน้มการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณพิเศษภายใต้ Fiscal investment and Loan Program: FILP (ในปีงบประมาณ 2552 มีจำนวน 15.9 ล้านล้านเยน) ผ่าน Japan Finance Corporation สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุน SMEs ภาคเกษตร ประมง และป่าไม้ ในปีงบประมาณ 2552 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64.7 จากเดิม 3.4 ล้านล้านเยน เป็น 5.5 ล้านล้านเยน สวนทางกับนโยบายรัฐบาลเดิมต้องการให้เป็น Small Government เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทำให้ภาคเอกชนอ่อนแอ ภาครัฐจึงต้องเข้าไปมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจแทน เช่นเดียวกับในหลายประเทศ นอกจากนี้ได้จัดสรรเงินงบประมาณพิเศษแก่ท้องถิ่นเพิ่มถึงร้อยละ 18.6 จากเดิมจำนวน 4 ล้านล้านเยนเป็น 4.8 ล้านล้านเยน

กล่าวโดยสรุป ในปี 2551 ภาคการเงินของญี่ปุ่นยังอยู่ในฐานะที่ยังดำเนินต่อไปได้ดี ถึงแม้ NPLs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 คาดว่าภาคการเงินของญี่ปุ่นจะอ่อนแอลงมากขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องมีผลประกอบการแย่ไปด้วย ในขณะที่ดีมาณด์ภายในประเทศยังไม่กระเตื้อง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากดัชนีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทุกตัว ส่งสัญญาณเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ