รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 9, 2009 11:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%

2. เตรียมลดเงินเข้าประกันสังคมทั้งลูกจ้างและนายจ้างร้อยละ 2

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียสูงสุดในรอบ 3 เดือน

HIGHLIGHT:
1. กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.50 เป็น ร้อยละ 1.25 ต่อปี โดยทางกนง.ได้ประเมินว่า ในช่วงต่อไปการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเอื้อให้นโยบายการเงินสามารถผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจและกระตุ้นการฟื้นตัวในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่ภาวะหดตัว จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการคลังขยายตัว อย่างไรก็ตาม การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ได้ผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง แต่จะช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยของประชาชนและภาคเอกชน ทั้งนี้ การใช้นโยบายดอกเบี้ยอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น ดังนั้นยังมีมาตรการอีกหลายด้านที่สามารถนำมาใช้ได้ ทั้งการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทอ่อนลง หรือนโยบายการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เอกชน ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นปี 52 อาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกจนเหลือ 0.50-1.00%
2. เตรียมลดเงินเข้าประกันสังคมทั้งลูกจ้างและนายจ้างร้อยละ 2
  • รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีแนวทางให้ความช่วยเหลือแรงงาน และสถานประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยการ ลดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างลงเหลือร้อยละ 2 จาก เดิมร้อยละ 5 ในขณะที่รัฐบาลสมทบร้อยละ 2.75 ซึ่งไม่กระทบต่อกองทุนบำนาญชราภาพ และรัฐบาลจะเข้าไปชดเชยในส่วนรายได้ที่ขาดหายไป เป็นระยะเวลา 1 ปี เชื่อว่าจะช่วยชะลอการว่างงานได้ 4-5 แสนคน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยผ่านทางยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ทำให้การผลิตในประเทศลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ลดลง ดังนั้น นโยบายการลดเงินเข้าประกันสังคมดังกล่าว จะช่วยให้เงินสดหมุนเวียนในการจับจ่ายและจ่ายเงินเดือนต่อเนื่อง ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศได้ระดับหนึ่ง
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียสูงสุดในรอบ 3 เดือน
  • สถาบัน Westpac-Melbourne ประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียอยู่ที่ระดับ 92.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 85.58 เนื่องจากต้นทุนสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับราคาเชื้อเพลิงที่ลดลง ส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ถึงแม้จะมีปัจจัยลบจากตัวเลขการว่างงานสูงขึ้นที่ระดับร้อยละ 5.2 ในเดือนมีนาคม ที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 ปี ก็ตาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลออสเตรเลียที่มุ่งเน้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยมอบเงินช่วยเหลือผู้ปลดเกษียณและผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งให้เงินช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก ประกอบกับมาตรการทางการเงิน โดยธนาคารกลางออสเตรเลียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์เพื่อช่วยกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 52 จะหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.25 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ