มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ด้านการจ้างงาน ช่วยเหลือบริษัท และการท่องเที่ยว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 12:05 —กระทรวงการคลัง

1. มาตรการส่งเสริมการจ้างงาน

สร้างระบบการฝึกอบรม การหางานและการทำงานให้แก่พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว รักษาสภาพการจ้างงาน และเพิ่มโอกาสการจ้างงาน ดังนี้

1.1 จัดสรรเงินงบประมาณสนับสนุนการรักษาสภาพการจ้างงาน เช่นการเพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่บริษัทเพื่อไม่ให้เลิกจ้างงาน สำหรับบริษัทขนาดใหญ่มีการเพิ่มยอดเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้ความรู้ และเพิ่มระยะเวลาการให้เงินสนับสนุน

1.2 มาตรการสนับสนุนการหางานใหม่และพัฒนาขีดความสามารถ

  • จัดสรรเงินสนับสนุนการหางานและการฝึกอบรมงาน จัดการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมระบบประกันแรงงาน เช่นประชากรวัยรุ่นและครอบครัวที่มีเพียงแม่และลูก เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันระหว่างการฝึกอบรม เช่น การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ เป็นต้น โดยหลักสูตรการอบรมพิจารณาจากความต้องการของบริษัทต่างๆ เพื่อให้ได้แรงงานตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และจัดสรรเงินสนับสนุนหน่วยงานฝึกอบรมเพื่อคุ้มครองและเพิ่มขีดความสามารถในการรับผู้ฝึกอบรมด้วย
  • สนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่งในการพัฒนาความสามารถวิชาชีพให้แก่ผู้ที่ไม่มีโอกาส และเพิ่มโครงการความร่วมมือเพื่อฝึกอบรมกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
  • สนับสนุนการจ้างงานผู้พิการ โดยการเพิ่มเงินสนับสนุนบริษัทที่ว่าจ้างงานผู้พิการ และการสนับสนุนให้ผู้พิการฝึกงานกับหน่วยงานราชการเพื่อสร้างประสบการณ์การทำงานก่อนการที่จะหางานกับบริษัทเอกชน เป็นต้น
  • เสริมสร้างความแข็งแกร่งของหน่วยงานและระบบการจัดหางาน โดยให้เงินสนับสนุนการว่าจ้างพนักงานนอกเวลาหรือพนักงานชั่วคราว เป็นต้น

1.3 มาตรการสร้างการจ้างงาน โดยการเพิ่มเงินทุนให้หน่วยงานที่มีหน้าที่สร้างการจ้างงานฉุกเฉิน และการนำเทคโนโลยี่ที่นำสมัยไปเผยแพร่ในต่างประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน เป็นต้น

1.4 มาตรการคุ้มครองพนักงานชั่วคราวหรือพนักงานนอกเวลา เช่น การให้ความคุ้มครองผู้ที่ถูกยกเลิกสัญญากระทันหัน และควบคุมดูแลให้บริษัทปฎิบัติตามกฎหมายแรงงานมาตรการแก้ไขการยกเลิกการรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงานอย่างกระทันหัน โดยจะมีการเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ยกเลิกการรับเข้าทำงาน และสนับสนุนการหางานให้แก่นักศึกษาที่ยังไม่มีบริษัทรับเข้าทำงานโดยการสร้างโอกาสให้ร่วมสัมภาษณ์งานกับบริษัทต่างๆ สนับสนุนแรงงานชาวต่างชาติ โดยการเพิ่มบุคลากร เช่น ล่าม ที่ปรึกษา การให้ความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นแก่เจ้าตัวและครอบครัว สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศให้แก่แรงงานต่างชาติที่ถูกไล่ออกจากงาน รวมถึงครอบครัวด้วย

1.5 การสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตแก่แรงงาน เช่นการหาที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ตกงานที่ต้องออกจากหอพักหรือที่อยู่อาศัยของบริษัท และให้คำปรึกษาทางด้านการใช้ชีวิตและให้เงินช่วยเหลือสนับสนุนผู้ตกงาน เป็นต้น

2. มาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทต่างๆ

การสนับสนุนบริษัทส่วนใหญ่เป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องโดยเพิ่ม Working Capital ด้านต่างๆ ได้แก่

2.1 สนับสนุนการเพิ่มทุนของ SMEs โดยการเพิ่มวงเงินประกันฉุกเฉินจำนวน 10 ล้านล้านเยนให้แก่สมาคมประกันสินเชื่อแห่งประเทศญี่ปุ่น รวมถึงรับการประกันสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง และการดัดแปลงพัฒนาระบบการประกันสินเชื่อ เช่น การยกเว้นการยื่นหลักทรัพย์ในระบบประกันธรรมดา เป็นต้น ในส่วนของ Japan Finance Corporation (JCF) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (เกิดจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่งรวมกัน ได้แก่ ธนาคาร SMEsธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ธนาคารเพื่อ Micro Credit และ JBIC (EXIM Bank ญี่ปุ่น)) ได้มีการเพิ่มเงินสำหรับระบบ Safety net อีกเป็นจำนวน 3 ล้านล้านเยน และให้เงินทุนสนับสนุนแก่ Shoko Chukin Bank (ธนาคาร SMEs ของรัฐอีกแห่งหนึ่ง) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้สินเชื่อเพื่อรับมือกับวิกฤต อีกเป็นจำนวน 2.4 ล้านล้านเยน

2.2 สนับสนุนการเพิ่มทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยอัดฉีดเงินให้แก่ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ Development Bank of Japan (DBJ) และ Shoko Chukin Bank เพื่อสามารถให้สินเชื่อระยะยาวและรักษาสภาพคล่องของบริษัทจำนวน 8 ล้านล้านเยน การเพิ่มกรอบการประกันความเสียหายให้แก่ JFC รวมไปถึงการพิจารณาแก้กฎหมายเพื่อสนับสนุนการรับมือต่อวิกฤตการเงินของ DBJ ด้วย

2.3 สนับสนุนการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีกิจการในต่างประเทศ โดยผ่านทาง JBIC ซึ่งเป็น EXIM Bank ญี่ปุ่น และขยายกรอบการดำเนินงานของระบบประกันการนำเข้าส่งออกของญี่ปุ่น

2.4 มาตรการทางด้านการเงิน Bank of Japan (BOJ) ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับรัฐบาลเพื่อดูแลและรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน และสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลทางด้านการเงินอย่างเต็มที่ Bank of Japan จัดสรรเงินจำนวน 1.22 ล้านล้านเยนหรือ 13 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเป็นเงินกู้ฉุกเฉินแก่สถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินในการปล่อยกู้แก่ภาคเอกชนของประเทศ เนื่องจากสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยเงินกู้มากขึ้น ลดการลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยเอกชนของญี่ปุ่น ทำให้ภาคธุรกิจประสบปัญหาในการบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากต้องพึ่งแหล่งเงินทุนระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ Bank of Japan รับหุ้นกู้ หรือตราสารของบริษัทเอกชน หรือตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลักประกัน ในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์ โดยไม่มีการจำกัดวงเงิน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 หรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานข้ามคืนของ BOJ แต่หากเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยจะมีสัดส่วนที่แพงขึ้น โดยหวังว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยเงินกู้แก่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น

3. มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ เหมือนเช่นประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นตลาด Domestic ที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยความร่วมมือของคนในท้องถิ่นเป็นหลักในการส่งเสริม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่น จุดเด่นคือ การคมนาคมสะดวกสามารถเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ระบบห้องน้ำสะอาด มีเพียงพอ ตามสถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่ง โดยมีจุดขายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญ หรือโบราณสถาน โบราณวัตถุ พิพิธภัณฑ์ รวมทั้งมีการจัดเทศกาลหรือดอกไม้ที่มีอยู่หลากหลายในฤดูต่างๆ ที่ประชาชนในท้องถิ่นร่วมมือกันจัดทำเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นโยบายการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้แก่

3.1 การสนับสนุนการจัดสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์มากเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวอยู่มากกว่า 2 คืน 3 วันและให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และองค์กรเกษตรป่าไม้และประมงร่วมมือกัน

3.2 การสร้างระบบฝึกอบรมบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

3.3 การเพิ่มความสะดวกของนักท่องเที่ยวโดยมีบัตรรถไฟราคาถูกระหว่างประเทศโดยมีเป้าให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคนภายในปี 2553 ( Visit Japan Upgrade Project)รวมทั้งสนับสนุนนักท่องเที่ยวจากประเทศกำลังพัฒนาและส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติที่ญี่ปุ่นมากขึ้น

3.4 การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้มีการลาพักผ่อนง่ายขึ้นและเผยแพร่สินค้าท่องเที่ยวแบบใหม่ จัดทำคู่มือเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการท่องเที่ยว

3.5 ลดค่าทางด่วนเพื่อให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น

รวบรวมโดย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ