รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 4, 2009 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. เอกชนร้องรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ

2. ขอวงเงินหมื่นล้านปล่อยกู้ช่วยส่งออก

3. ดุลการค้าเกาหลีใต้ปรับตัวดีต่อเนื่อง ทำให้เงินวอนแข็งค่าขึ้น

HIGHLIGHT:
1. เอกชนร้องรัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการด้านการเงินมาแก้ปัญหาเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ หลังจากพบว่าคำสั่งซื้อล่วงหน้าในไตรมาสที่ 2 ภาพรวมยังคงติดลบ ส่งผลให้คาดว่าการว่างงานในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 1.3 ล้านคน หรือร้อยละ 3.5 ของแรงงานทั้งหมด
  • ทั้งนี้ แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่าในแต่ละเดือนมีลูกค้าแจ้งปิดกิจการกว่า 10 รายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดว่าปีนี้ธุรกิจ SMEs จะเลิกกิจการประมาณร้อยละ 10 หรือ 2 แสนราย โดยธุรกิจที่ใช้สินเชื่อต่ำกว่า 10-20 ล้านบาท จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยนั้น ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันการเงินชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน มี.ค. 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนความต้องการสินเชื่อที่ลดลง ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จากความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)
2. ขอวงเงินหมื่นล้านปล่อยกู้ช่วยส่งออก
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เตรียมเสนอเรื่องการคืนภาษีมุมน้ำเงินให้กับผู้ส่งออกสินค้าในกลุ่มมอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ในอัตราร้อยละ 3-5 และกลุ่มที่เหลือในอัตราร้อยละ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคส่งออก ซึ่งจะเป็นแรงขับดันการส่งออกให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่า การคืนภาษีมุมน้ำเงิน จะช่วยผลักดันการส่งออกให้เพิ่มขึ่นได้ 9.6 แสนล้านบาท และจะทำให้อัตราการขยายตัวการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0-1 รวมกับมาตรการที่ได้ดำเนินการแล้วจะทำให้ทั้งปี กลับมาขยายตัวเป็นบวกหรือติดลบน้อยที่สุด ซึ่งหากไม่มีมาตรการการส่งออกปี 52 อาจติดลบสูงถึงร้อยละ -15.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจจะช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจทำให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศคู่แข่ง นอกเหนือจากการใช้สิทธิประโยชน์ FTA จะช่วยให้ผู้ส่งออกมีข้อได้เปรียบจากการลดภาษี เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา ในช่วงภาวะการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ในกรณีฐาน สศค. คาดว่า ปี 2552 มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จะหดตัวในระดับสูงช่วงร้อยละ -21 ถึง -20ต่อปี
3. ดุลการค้าเกาหลีใต้ปรับตัวดีต่อเนื่อง ทำให้เงินวอนแข็งค่าขึ้น
  • ดุลการค้าเกาหลีใต้ในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 6.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าเดือน มี.ค. ที่อยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดนับจากเกาหลีใต้ประสบวิกฤตในช่วงปีที่ผ่านมา โดยการเกินดุลการค้าเป็นผลจากการที่การส่งออกหดตัวร้อยละ 19 ต่อปี แต่การนำเข้าที่หดตัวลงมากกว่าที่ร้อยละ 36 ทั้งนี้ กระแสข่าวดังกล่าวเป็นผลดีต่อค่าเงินวอน โดยค่าเงินวอนแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบปีที่ 1,282 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยอยู่ในระดับ 1,340-1,380 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ดุลการค้าเกาหลีใต้เกินดุลส่วนหนึ่งเป็นเพราะมูลค่าการส่งออกของเกาหลีในเดือน เม.ย. ขยายตัวร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้ายังคงหดตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการสินค้าอิเลคโทรนิคส์ปรับลดการผลิตพร้อมกับลดราคาสินค้าลงในช่วงก่อนหน้าเนื่องจากกังวลภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง ซึ่งทำให้สินค้าคงค้างในสต๊อกหมดลง ผู้ประกอบการจึงเริ่มออกคำสั่งซื้อสินค้าอีกครั้ง ทำให้การผลิตรวมถึงการส่งออกของเกาหลีดีขึ้น นอกจากนั้น การส่งออกเกาหลีที่ดียังเป็นผลจากการที่ทางการเกาหลีใช้นโยบายเงินวอนอ่อนค่า (Competitive Devaluation) โดยเคยอ่อนลงถึงระดับ 1,570 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนมี.ค. ทำให้การส่งออกเกาหลีปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ