รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 4-8 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 13, 2009 17:06 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

บทสรุป

1. รัฐบาลได้ประกาศชะลอการแปรรูปธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เนื่องจากความจำเป็นในการใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

2. สถาบันการเงินญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 เป็นผลจากราคาหลักทรัพย์ตกต่ำลงอย่างมากและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

3.วิกฤตการเงินเปลี่ยน Financial Landscape ในญี่ปุ่น — สถาบันการเงินในประเทศควบรวมกิจการกันมากขึ้น รวมทั้งเข้าซื้อสินทรัพย์ของสถาบันการเงินต่างประเทศที่ต้องการขายใช้หนี้

---------------------------------------------------------------

1. รัฐบาลได้ประกาศชะลอการแปรรูปธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

รัฐบาลได้ประกาศชะลอการแปรรูปธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น (Development Bank of Japan (DBJ) และธนาคารเพื่อ SMEs (Shoko Chukin Bank) โดยจะขยายเวลาออกไป 3 ปีครึ่ง และได้ตัดสินใจว่าจะไม่ดำเนินการขายหุ้นจนถึงสิ้นปี 2554 (2011)และระหว่างนี้จะพิจารณาว่าจำเป็นที่จะแปรรูปสถาบันการเงินทั้งสองแห่งเป็นบริษัทเอกชนต่อไปหรือไม่ เนื่องจากรัฐบาลได้ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดังกล่าวเป็นเครื่องมือเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทเอกชนนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนไม่เต็มใจปล่อยเงินกู้โดยเห็นว่าการแปรรูปเป็นเอกชนจะต้องมีการพิจารณารอบคอบและใช้เวลา

ภายใต้แผนปฏิรูปสถาบันการเงินของรัฐที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2551 สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี Koizumi ซึ่งเป็นช่วงเวลาปกติที่สถาบันการเงินเอกชนปล่อยเงินกู้ตามปกติได้แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีสถาบันการเงินเอกชนใดเสนอตัวสนับสนุนปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ (Capital Adequacy Ratios) ลดลง ถึงแม้รัฐบาลจะค้ำประกันร้อยละ 80 ของจำนวนเงินกู้ทั้งหมดในกรณีที่ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้คืนได้ แต่ธนาคารเอกชนไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมากและหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ ฉะนั้นการปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือบริษัทต่างๆ เป็นไปได้ยากมาก ส่งผลให้ DBJ และ Shoko Chukin Bank ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจัดสรรเงินจำนวน 20 ล้านล้านเยนเพื่อปล่อยเงินกู้และเพื่อดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ทั้ง Shoko Chukin Bank และ DBJ สามารถให้ความร่วมมือปล่อยเงินกู้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกำไรและความเสี่ยง เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินของรัฐ แต่หากแปรรูปเป็นเอกชนแล้วจะไม่สามารถดำเนินการเช่นปัจจุบันได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่าในสภาวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนี้ควรเลือกทางที่เหมาะสมที่สุดคือการยังไม่แปรรูปเป็นเอกชน แต่ในขณะเดียวกันการแปรรูปเป็นเอกชนนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากจะทำให้เกิดความกระตือรือร้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น รัฐบาลอาจจะใช้วิธีการถือหุ้นบางส่วนไว้เพื่อให้สามารถใช้สถาบันการเงินดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการรับมือต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะ เกิดขึ้นอีกในอนาคตก็เป็นได้

2. สถาบันการเงินญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีผลประกอบการขาดทุน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551

2.1 Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของญี่ปุ่น มีผลประกอบการขาดทุน 260 พันล้านเยน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 (31 มี.ค.52) เนื่องจากราคาหุ้นของธนาคารที่ตกต่ำลงและค่าใช้จ่ายในการขจัดหนี้เสียได้เพิ่มขึ้น เป็นการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2548

2.2 Mizuho Financial Group Inc. กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 2 มีผลประกอบการขาดทุน 580 พันล้านเยน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 เนื่องจาก Mizuho ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Merrill Lynch บริษัทหลักทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น

2.3 Sumitomo Mitsui Financial Group Inc.(SMFG) กลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 มีผลประกอบการขาดทุน 390 พันล้านเยน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551 จากเดิมที่คาดว่าจะมีผลกำไร 180 พันล้านเยน และเทียบกับกำไร 461.5 พันล้านเยนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

2.4 Nomura Holdings บริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นมีผลประกอบการขาดทุน 700 พันล้านเยน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 ซึ่งเป็นการขาดทุนมากที่สุดในประวัติการณ์และขาดทุนเป็นอันดับ 1 ของสถาบันการเงินในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตทางการเงินที่ส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ลดลง และรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2551 รวมไปถึงการรับพนักงานของ Leaman Brothers ที่ล้มละลายเมื่อปี 2551 เข้ามาทำให้ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก

2.5 Norinchukin Bank เป็นธนาคารกลางสหกรณ์ที่เกิดจากการร่วมทุนของสมาชิกสหกรณ์เพื่อการเกษตร สหกรณ์เพื่อการประมง สหกรณ์ป่าไม้ โดยรับฝากเงินจากสหกรณ์ดังกล่าวทั่วประเทศและนำไปบริหารต่อเพื่อสร้างผลตอบแทนแก่สมาชิก อย่างไรก็ตาม ได้ประสบการขาดทุน 620 พันล้านเยน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2552 เป็นการขาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2539 เนื่องจากขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ Subprime และผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกทำให้มูลค่าสินทรัพย์ที่ธนาคารครอบครองอยู่ลดลงอย่างมาก

เปรียบเทียบผลการขาดทุนของสถาบันการเงินญี่ปุ่น ณ สิ้นปีงบประมาณ 2551

          No.         รายชื่อสถาบันการเงิน           จำนวนเงินขาดทุนหน่วย : พันล้านเยน
          1           Nomura Holdings                      700
          2           Norinchukin Bank                     620
          3           Mizuho Financial Group               580
          4           Mitsui Sumitomo Financial Group      390
          5           Mitsubishi UFJ Financial Group       260

ที่มา Nikkei

3. วิกฤตการเงินเปลี่ยน Financial Landscape ในญี่ปุ่น

3.1 Sumitomo Mitsui Financial Group Inc.และ Diawa Securities Group บริษัทในเครือกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการบริษัทหลักทรัพย์ Nikko Cordial บริษัทลูกของ Nikko Citi Group ญี่ปุ่น (บริษัทลูกของ Citibank สหรัฐฯ) คาดว่า Deal จะประสบผลสำเร็จเร็วๆ นี้

3.2 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 บริษัทหลักทรัพย์ Mizuho Securities บริษัทในเครือ Mizuho Financial Group ได้ประกาศรวมกิจการกับบริษัทหลักทรัพย์ Shinkou Securities อย่างเป็นทางการทำให้ Mizuho Securities กลายเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของญี่ปุ่นโดยมีผลกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 411.3 พันล้านเยน

3.3 ธนาคาร Shinsei และธนาคาร Aozora ซึ่งเป็นธนาคาร ญี่ปุ่นที่มีสินทรัพย์ใหญ่อันดับ 7 และ 8 ตามลำดับ กำลังเจรจาเพื่อควบรวมกิจการเข้าด้วยกันซึ่งจะทำให้กลายเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของญี่ปุ่น ทั้ง 2 ธนาคารขาดทุนอย่างมากจากการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศซึ่งรวมSubprime โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ 51 ธนาคาร Aozora และ Shinsei มีผลขาดทุน 196 และ 48 พันล้านเยนตามลำดับ จนต้องขอใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มทุนในการฟื้นฟูกิจการShinsei ชื่อเดิมคือ Long-Term Credit Bank of Japan และ Aozora เดิมคือ Nippon Credit Bank ซึ่งทั้งสองธนาคารได้ปิดกิจการลงในช่วงวิกฤตการเงินปี 2541

3.4 AIG โตเกียว ประกาศขายอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ย่านธุรกิจการเงินใจกลางกรุงโตเกียว จำนวน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการขายสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาสินทรัพย์ AIG ที่มีอยู่ทั่วโลกเพื่อใช้หนี้ของสำนักงานใหญ่ ภายหลังรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้กู้เงินจำนวน 80 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูกิจการในเดือน ก.ย.51 ที่ผ่านมา

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ