ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนเมษายน 2552 และในช่วง 7 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — เมษายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2009 16:11 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในเดือนเมษายน 2552 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 49,183 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณรวม 458,500 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 25,112 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวมทั้งสิ้น 433,388 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนบทบาทหลักของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ รัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลเงินสดด้วยการออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลัง รวมทั้งใช้เงินคงคลังบางส่วน ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 เท่ากับ 97,890 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นระดับที่สูงและมั่นคงต่อฐานะการคลังของรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ฐานะการคลังเดือนเมษายน 2552

1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 92,499 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 31,654 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25.5) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจลดลง นอกจากนั้นการคืนภาษีของกรมสรรพากรก็เพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว

1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 141,682 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 12,954 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 8.4) ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 117,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว รายจ่ายลงทุน 19,966 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 55.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อนอีกจำนวน 4,488 ล้านบาท (ตารางที่ 1)

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจำนวน 12,000 ล้านบาท เงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 6,800 ล้านบาท และสำนักงานประกันสังคมจำนวน 5,000 ล้านบาท

ตารางที่ 1 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเดือนเมษายน 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                                 เดือนเมษายน                 เปรียบเทียบ
                                               2552         2551         จำนวน       ร้อยละ
          1. รายจ่ายปีปัจจุบัน                    137,194    150,029        -12,835      -8.6
          1.1 รายจ่ายประจำ                    117,228    104,918         12,310      11.7
          1.2 รายจ่ายลงทุน                      19,966     45,111        -25,145     -55.7
          2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน             4,488      4,607           -119      -2.6
          3. รายจ่ายรวม (1+2)                 141,682    154,636        -12,954      -8.4

ที่มา: กรมบัญชีกลาง

1.3 จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้นส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนเมษายน 2552 ขาดดุล 49,183 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 9,542 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 39,641 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้เงินโดยออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลัง จำนวน 86,688 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุลจำนวน 47,047 ล้านบาท (ตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดเดือนเมษายน 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                                      เมษายน                 เปรียบเทียบ
                                                  2552       2551         จำนวน       ร้อยละ
          1. รายได้                              92,499    124,153        -31,654     -25.5
          2. รายจ่าย                            141,682    154,636        -12,954      -8.4
          3. ดุลเงินงบประมาณ                     -49,183    -30,483        -18,700      61.3
          4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                    9,542      7,745          1,797      23.2
          5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)                 -39,641    -22,738        -16,903      74.3
          6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล               86,688     35,943         50,745     141.2
          7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)                  47,047     13,205         33,842     256.3

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

2. ฐานะการคลังในช่วง 7 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 — เมษายน 2552)

2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 654,963 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 99,862 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 13.2) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีที่สำคัญส่วนใหญ่เก็บได้ลดลง ได้แก่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีภาษีสรรพสามิตน้ำมัน อากรขาเข้า ภาษีรถยนต์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงมาก ในขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง

2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,113,463 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 163,346 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 17.2) โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,022,556 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 52.4 ของวงเงินงบประมาณ (1,951,700 ล้านบาท) โดยแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำ 874,455 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.9 และรายจ่ายลงทุน 148,101 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.1 และรายจ่ายปีก่อน 90,907 ล้านบาท (ตารางที่ 3)

ตารางที่ 3 การเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                              7 เดือนแรก                           เปรียบเทียบ
                                         ปีงบประมาณ 2552     ปีงบประมาณ 2551        จำนวน       ร้อยละ
          1. รายจ่ายปีปัจจุบัน                     1,022,556            877,007        145,549      16.6
          1.1 รายจ่ายประจำ                       874,455            700,401        174,054      24.9
          1.2 รายจ่ายลงทุน                        148,101            176,606        -28,505     -16.1
          2. รายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน               90,907             73,110         17,797      24.3
          3. รายจ่ายรวม (1+2)                  1,113,463            950,117        163,346      17.2

ที่มา: กรมบัญชีกลาง

2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 458,500 ล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 25,112 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการได้รับชดใช้เงินคงคลังจำนวน 27,540 ล้านบาท ทำให้ดุลการคลัง (ดุลเงินสด) ของรัฐบาลขาดดุล 433,388 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งเพื่อเป็นการประหยัดภาระดอกเบี้ย จึงได้ชดเชยการขาดดุลดังกล่าวด้วยการออกพันธบัตร ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลัง 302,218 ล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 131,170 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 มีจำนวน 97,890 ล้านบาท (ตารางที่ 4)

ตารางที่ 4 ฐานะการคลังตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกปีงบประมาณ 2552

หน่วย: ล้านบาท

                                             7 เดือนแรก                           เปรียบเทียบ
                                        ปีงบประมาณ 2552     ปีงบประมาณ 2551        จำนวน       ร้อยละ
          1. รายได้                             654,963            754,825        -99,862     -13.2
          2. รายจ่าย                          1,113,463            950,117        163,346      17.2
          3. ดุลเงินงบประมาณ                    -458,500           -195,292       -263,208     134.8
          4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                   25,112             -1,234         26,346     -2135
          5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)                -433,388           -196,526       -236,862     120.5
          6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล              302,218            121,391        180,827       149
          7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)                -131,170            -75,135        -56,035      74.6

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 0-2273-9020 ต่อ 3558 และ 3555

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 67/2552 20 พฤษภาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ