ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 22, 2009 15:28 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม2552 ปรับตัวลดลง 34,400 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ปรับตัวลดลง 24,300 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.2 สืบเนื่องจากรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนที่อ่อนตัวลง 32,900 ล้านเหรียญสรอ.หรือร้อยละ 0.5 เป็นองค์ประกอบหลัก โดยเฉพาะผลกระทบจากการปิดกิจการของกิจการห้างหุ้นส่วน(Partnerships) และกิจการเจ้าของรายเดียว (Sole Proprietorships) ในขณะที่ รายได้และเงินเดือนภาครัฐยังคงปรับตัวขึ้น 2,900 ล้านเหรียญสรอ. ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ และการปรับเพิ่มเงินประกันสังคมตามภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมในเดือนมีนาคม 2552 นั้น ปรับตัวลดลงที่อัตราคงที่จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 0.1 หรือ 1,800 ล้านเหรียญสรอ.

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงในเดือนมีนาคม 2552 นั้น ปรับตัวลดลงรอ้ยละ 0.1 หลังจากที่ปรับลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม ทางการสหรัฐฯ ได้ดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางเครดิตภาษี (Tax Credit) ภายใตกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งสหรัฐอเมริกา ประจำปี 2009 (The American Recovery and Reinvestment Act of 2009) ซึ่งช่วยปรับลดภาษีลงไปกว่า 11,000 ล้านเหรียญสรอ.

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures - Real PCE) ชะลอตัวลงร้อยละ 0.2 ในเดือนมีนาคม หลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือนมีนาคมปรับลดลงร้อยละ 0.8 เปรียบเทียบกับการชะลอตัวในเดือนปรับลดลงร้อยละ 0.6 ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าไม่ทงคน (Non-Durable Goods) ปรับลดลงร้อยละ 0.8 หลังจากขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนก่อนหน้า

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ระดับคงที่จากเดือนก่อนหน้า หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ที่อัตราเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายจริง ประชากรสหรัฐฯ มีระดับการออมอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

                         Average Growth       February      March
                         last 12 months         2009         2009
Personal Income              0.0%               -0.2%       -0.3%
Real DPI                     0.2%               -0.3%        0.0%
Real PCE                    -0.1%                0.1%       -0.2%
PCE Price                    0.1%                0.3%        0.0%
Personal Saving Rate         2.8%                4.0%        4.2%
ที่มา :  สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลก่อนคิดผลจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.2 ในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับนั้น ได้ส่งผลให้นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้ตกต่ำถึงจุดต่ำสุด ซึ่งเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวกลับชะลดตัวลงร้อยละ 0.1 ในเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในภาวะถดถอยต่อไปอีกระยะหนึ่ง และอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ จากผลกระทบของทั้งตลาดแรงงานที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องในปี 2552 การเลิกจ้างงานที่สูงขึ้น และรายได้ส่วนบุคคลที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ระดับการออมส่วนบุคคลยังคงอยู่ที่ระดับสูง ดังนั้น การฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นให้นำเงินออกมาใช้จ่ายมากขึ้นจึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งนี้

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ