ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 16, 2009 16:32 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงาน ยอดรายได้ การใช้จ่ายและการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนเมษายน 2552 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2552 ปรับตัวสูงขึ้น 58,200 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.5 หลังจากอ่อนตัวลง 25,900 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.2 ในเดือนมีนาคม โดยรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนคงตัวที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า หลังจากที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสามเดือนแรกของปี 2552 จากปริมาณการเลิกจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและเงินรางวัลประจำปีที่ต่ำกว่าคาดการณ์

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมในเดือนเมษายน 2552 นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 121,800 ล้านเหรียญ สรอ.หรือร้อยละ 1.1 เปรียบเทียบกับการปรับตัวเพิ่มขึ้น 8,200 ล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.1 ในเดือนมีนาคม

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงในเดือนเมษายนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางเครดิตภาษี (Tax Credit) และการปรับเพิ่มระดับเงินประกันสังคมในเดือนมีนาคมและเมษายน 2552 ภายใต้กฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนแห่งสหรัฐอเมริการประจำปี 2009 (The American Recovery and Reinvestment Act of 2009) โดยมาตรการดังกล่าวได้ปรับลดเงินภาษีรวมกว่า 64,000 ล้านเหรียญสรอ. และ 34,000 ล้านเหรียญสรอ. ในเดือนเมษายนและเดือนมีนาคม ตามลำดับ อนึ่ง หากไม่รวมผลของมาตรการดังกล่าว รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงในเดือนเมษายนและมีนาคม 2552 จะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures - Real PCE) ชะลอตัวลงร้อยละ 0.1 ในเดือนเมษายน 2552 เปรียบเทียบกับการชะลดตัวที่ร้อยละ 0.3 ในเดือนก่อหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน (Durable Goods) และสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ในเดือนเมษายนชะลงตัวลงร้อยละ 0.7 เปรียบเทียบกับการชะลอตัวในเดือนมีนาคมที่ร้อยละ 1.0 ส่วนที่ปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 สูงกว่าอัตราการขยายตัวในเดือนมีนาคมที่ร้อยละ 0.1 เล็กน้อย

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนเมษายน 2552 หลังจากที่อ่อนตัวลงร้อยละ 0.1 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ ดัชนีราคาของการใช้จ่ายการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับระดับราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนหน้า

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถไปใช้จ่ายได้จริง ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประชากรสหรัฐฯ มีระดับการออมอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ในเดือนเมษายน เปรียบเทียบกับระดับการออมในเดือนมีนาคมที่ร้อยละ 4.5

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

                              Average Growth         March      April
                              last 12 months          2009       2009
Personal Income                   0.1%               -0.2%       0.5%
Real DPI                          0.3%                0.1%       1.1%
Real PCE                         -0.2%               -0.3%      -0.1%
PCE Price                         0.0%                0.0%       0.1%
Personal Saving Rate              3.3%                4.5%       5.7%
ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

กล่าวโดยสรุปแล้ว ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงตึงตัว เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเก็บออมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่รายได้ส่วนบุคคลปรับตัวสูงขึ้นและระดับราคาซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดของอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของครัวเรือนเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุน มูลค่าอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ตนถือครองที่อาจตกต่ำลงไปอีก นอกจากนั้น ตัวเลขรายได้ส่วนบุคคลที่ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน นับเป็นผลจากมาตรการปรับลดภาษีและการเพิ่มเงินสนับสนุนด้านประกันสังคมของทางการ ประกอบกับยอดรายได้ในช่วงสามเดือนก่อนหน้าปรับลดลงมากกว่าปกติจากผลกระทบของการเลิกจ้างงานและเงินรางวัลประจำปีที่ต่ำกว่าคาดการณ์ จึงอาจกล่าวได้ว่าระดับรายได้ส่วนบุคคลที่กระเตื้องขึ้นในเดือนเมษายนนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงการฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แท้จริง

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ