ถึงเวลาปฏิรูปตลาดทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 9, 2009 11:51 —กระทรวงการคลัง

ตลาดทุนไทยกำลังจะได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง โดยแผนแม่บทการพัฒนาตลาดทุนไทยกำลังจะแล้วเสร็จในไม่ช้านี้ คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน จะพิจารณาแผนแม่บทดังกล่าวและอนุมัติให้มีผลบังคับใช้ภายหลังจากการประชุมครั้งสุดท้ายนี้ในปลายเดือนหน้า

แผนการพัฒนาตลาดทุนไทยครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยการทำงานอย่างหนักและความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยตลอดจนผู้บริหารของภาคเอกชนหลายท่าน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 4 คณะได้แก่ คณะทำงานยกร่างแผน คณะทำงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตลาดทุน และคณะทำงานปฏิรูประบบภาษี

วิสัยทัศน์ของแผนคือ ตลาดทุนไทยต้องเป็นกลไกหลักในการรวบรวม จัดสรร และควบคุมทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยพันธกิจของแผน 1) ให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนสามารถเข้าถึงตลาดทุนได้โดยง่ายและทั่วถึง 2) เพื่อพัฒนาคุณภาพของความหลากหลายของสินค้าและบริการ 3) ลดต้นทุนทางการเงินให้ผู้ระดมทุน และต้นทุนการทำธุรกรรมให้ผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน และสถาบันตัวกลางที่เกี่ยวข้อง 4) สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งทางด้านกฎหมาย กฎเกณฑ์การกำกับดูแลระบบบัญชี ระบบภาษี และเทคโนโลยี 5) ให้ผู้ลงทุนมีความรู้และได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม 6) ส่งเสริมการแข่งขันในตลาดทุนไทย และความเชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนไทยกับตลาดทุนโลก

โดยมีมาตรการปฏิรูปตลาดทุนไทยและมาตรการที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ดังนี้ 1) ยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2) เปิดเสรีและเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง 3) ปฏิรูประบบกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน 4) ปรับปรุงระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน 5) พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ 6) จัดตั้งระบบการออมเพื่อการชราภาพ 7) สร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาวให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง 8) พัฒนาตลาดพันธบัตร

สำหรับรายละเอียดในแต่ละมาตรการนั้นมีค่อนข้างมาก แต่ผมขอยกตัวอย่างเพียงบางมาตรการ เช่น การเปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง มีมาตรการที่สำคัญ คือ อนุญาตให้บล. บลจ. ทำธุรกิจหลักทรัพย์ได้เต็มรูปแบบ(Single License) เปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์เป็นการทั่วไป เปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ เปิดช่องทำธุรกรรมซื้อขายของ บล. ต่างชาติ (Trading Access) ดำเนินการรองรับการทำธุรกิจข้ามประเทศ( mutual recognition) กำหนดกรอบในการนำสินค้า Cross border มาขายให้กับผู้ลงทุนไทย และเปิดช่องให้มีการลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง(ASEAN Exchange Linkages)

ส่วนการปฏิรูประบบกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน มีมาตรการที่สำคัญ คือ ควบรวมกิจการและปรับโครงสร้างของ บจ. ให้มีความสะดวกมากขึ้น สร้างมาตรการทางกฎหมายที่เป็นการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนต่างประเทศที่เป็นการลงทุนแบบ Portfolio Investment สามารถลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สะดวกขึ้น และเพิ่มมาตรการบังคับทางกฎหมายสำหรับธุรกรรมในตลาดทุนที่ผิดกฎหมาย

ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน มีมาตรการที่สำคัญ คือ สร้างกลไกการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศผ่าน Infrastructure fund, PPP pool fund ส่งเสริมการออก Annuity product โดยขจัดอุปสรรคทางภาษี เปิดให้ซื้อขาย Currency futures/Interest rate future/Bond future ในระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น

ในชั้นนี้แผนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังเหลือการเพิ่มรายละเอียดในเรื่องแผนปฏิบัติการ( Action plan) ของทั้ง 8 มาตรการว่า แต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติตามแผนจะแล้วเสร็จเมื่อใด นอกจากนั้นยังเหลือการกำหนดตัวชี้วัดในระดับภาพรวมและในระดับเป้าหมายเพื่อวัดความสำเร็จของการปฏิบัติตามแผนในแต่ละมาตรการที่สำคัญ

โดย ดร.โชติชัย สุวรรณภรณ์ Chodechai@fpo.go.th

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ