รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 13-17 กรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 21, 2009 15:33 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

บทสรุป

1. IMF คาดว่าญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาเงินฝืดถึงสิ้นปี 2554 แนะนำหาเวลาที่เหมาะสมในการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหันมาให้ความสนใจการปรับโครงสร้างที่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว

2. BOJ ขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2552

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือนเดือน มิ.ย.52 เพิ่ม เป็นผลจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น

4. รัฐบาลญี่ปุ่นทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตรา สกุลเยน กับอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน

-----------------------------------

1. IMF คาดว่าญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาเงินฝืดถึงสิ้นปี 2554 ผลการประเมินสถานะเศรษฐกิจของสมาชิก เป็นประจำทุกปี ตาม Article IV consultation ผลการประเมินเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ ซึ่งได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.52 สรุปว่า

1.1 ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้อัตราการเจริญเติบโตในไตรมาสที่ 4 ปี 51 และไตรมาสแรกของปี 52 นี้ถดถอยอย่างรุนแรง จากการลดลงของการส่งออก เงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะติดลบที่ร้อยละ 1.1 ในปี 2552 และคาดว่าจะติดลบร้อยละ 0.8 ในปี 2553 และร้อยละ 0.4 ในปี 2554 ตามลำดับ ในขณะที่การว่างงานในเดือน พ.ค.เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.2 สูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์

1.2 ถึงแม้ว่าภาคการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นหลัง Lehman Brothers ล้มละลายในเดือน ก.ย.51 แต่มูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่าเหลือเพียงร้อย 40 ของมูลค่าที่ซื้อขาย ณ สิ้นปี 2550 ในขณะที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20 นับตั้งแต่เดือน ส.ค.51 ทำให้รายได้จากการลงทุนต่างประเทศลดลง และเป็นการซ้ำเติมการส่งออก

1.3 ฐานะการคลังได้กลับเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว จากการเพิ่มการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายหลังที่ได้กระเตื้องขึ้นมาเป็นเวลา 7 ปี คาดว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11.5 ต่อ GDP ในปี 2553 ในขณะที่หนี้สาธารณะโดยรวมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 220 ต่อ GDP

1.4 ได้ประมาณการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นว่า GDP จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2553 โดยจะเจริญเติบโตเพิ่มร้อยละ 1.7 หลังจากที่เจริญเติบโตถดถอยลงร้อยละ 0.6 ในปี 2552 นี้

1.5 มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ ภาวะการว่างงานที่สูงมาก ภาคการเงินยังมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้อันเกิดจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก และได้แนะนำรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ควรให้ความสำคัญกับมาตรการระยะปานกลางที่จะเพิ่มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพในภาคการเงิน พิจารณาเวลาที่เหมาะสมในการลดการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และหันมาปรับโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวแทน นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องปัญหาการเป็นสังคมผู้สูงอายุ และปริมาณหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นจะต้องพิจารณาลดค่าใช้จ่ายและปฏิรูประบบภาษีเพื่อปรับปรุงฐานะการคลัง สำหรับมาตรการอุดหนุนภาคการเงินและภาคเอกชนควรต้องเพิ่มการระมัดระวังเพราะทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงด้านการคลังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ควรปฏิรูปโครงสร้างใหม่ โดยเปิดเสรีการค้าภาคเกษตรและภาคบริการมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนในประเทศมากขึ้น รวมทั้งต้องปฏิรูประบบประกันสังคม

2. BOJ ขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ประกอบการ BOJ (ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น) จะขยายระยะเวลามาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ประกอบการ โดยขยายการรับซื้อพันธบัตรของบริษัทที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2552 มาตรการเพื่อสนับสนุนด้านการเงินให้ผู้ประกอบการนี้ ประกอบด้วย 1) การรับซื้อพันธบัตรของบริษัท 2) การรับซื้อตราสารทางการเงิน (Commercial Paper: CP) และ 3) ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยมีหลักประกันเป็น CP Financial Service Agency ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับบริการทางการเงินของญี่ปุ่นทั้งหมด มองว่า ถึงแม้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยังประสบปัญหาการระดมเงินทุน หากเลิกมาตรการดังกล่าวนี้ จะมีกระทบทางการเงินของผู้ประกอบการ

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือน ประจำเดือน มิ.ย.52 เพิ่ม ผลจากสัญญาณฟื้นตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ดัชนีการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Household Spending) ในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และ ร้อยละ 0.3 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคภาคครัวเรือน ประจำเดือน มิ.ย.52 เพิ่มเป็น 37.6 จาก 35.7 ในเดือน พ.ค.

4. รัฐบาลญี่ปุ่นทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราเงินสกุลเยน กับอินโดนีเซีย รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตรา (Bilateral Swap Arrangement) ในรูปเงินเยน (Yen Swap Arrangement) วงเงิน 1.5 ล้านล้านเยน กับรัฐบาลอินโดนีเซีย ในกรณีประสบวิกฤตการเงิน และเกิดปัญหาดุลการชำระเงิน โดยก่อนหน้านี้ได้จัดทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ (CMI) ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือประเภท Standby สำหรับอาเซียน +3 ที่ปัญหาดุลการชำระเงิน เสริมเพิ่มเติมจากเงินช่วยเหลือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น IMF ทั้งนี้ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้จัดสรรเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจากจำนวน ทั้งหมด100 ล้านล้านเยน มาใช้ให้ความช่วยเหลือเพื่อการนี้วงเงิน 6 ล้านล้านเยน จำนวน 1 ใน 4 ของเงินช่วยเหลือดังกล่าวนี้ นำไปให้อินโดนีเซีย ส่วนที่เหลือจะให้แก่ฟิลิปปินส์และประเทศไทย หากต้องการทำความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราในรูปเงินเยน โดยประเทศดังกล่าวสามารถเงินเยนเปลี่ยนเป็นเงินดอลลาร์หรือเงินสกุลตนเองได้ตามจำนวนเงินที่ต้องการ รัฐบาลญี่ปุ่น ยังต้องการให้ใช้เงินสกุลเยนเป็นสกุลเงินสากล เพิ่มบทบาทในระบบการค้าและการเงิน เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น จึงต้องการเพิ่มน้ำหนักเงินสกุลเยน หรือยกฐานะเงินสกุลเยนในระบบการเงินโลกมากขึ้นกว่าปัจจุบัน

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ