Global Economics Report: United States

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 18, 2009 15:05 —กระทรวงการคลัง

Outlook: United States

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณผ่านจุดต่ำสุด
  • สาเหตุที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลดลงเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคการ
บริโภค เช่น โครงการ Making Work Pay Tax Credit
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเผชิญความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ภาคการเงินที่ยังคงมีความเปราะบางสูง รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาหดตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 2
  • สศค. ประเมินว่า ในระยะต่อไป ทางการสหรัฐฯอาจจะต้องเร่งเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น
ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบัน

หลังจาก GDP ในไตรมาสที่ 1 หดตัวถึงร้อยละ -6.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Q-o-Q Annualized) อันเป็นผลจากวิกฤตการเงินที่ลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขเบื้องต้นของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ที่หดตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากไตรมาสก่อน

หากพิจารณาองค์ประกอบของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการหดตัวที่น้อยลงของการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวที่ร้อยละ -20.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากไตรมาส 1 ที่หดตัวถึง ร้อยละ 50.5 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวที่ลดลงนั้นเป็นผลจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ (Residential Investment) ที่หดตัวลดลงที่ร้อยละ -9.0 ต่อปี ในไตรมาสที่ 2 จากที่เคยหดตัวร้อยละ -36.4 ต่อปีในไตรมาสก่อน

การหดตัวที่ลดลงของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงนั้นสอดคล้องกับดัชนีชี้วัดภาคอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ล่าสุดที่เริ่มมีสัญญาณพื้นตัว เช่น ยอดจำหน่ายบ้านมือสอง (Existing home sales) ราคาบ้านมัฐยฐาน (Median Home Price) ยอดบ้านใหม่เริ่มสร้าง (Housing Starts) และใบขออนุญาตก่อสร้าง (Building Permits) ล้วนแล้วแต่ปรับตัวดีขึ้นทั้งสิ้นบ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงินโลก เริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น การลงทุนที่ไม่ใช่ภาคอสังห ริมทรัพย์นั้น (Nonresidential Investment) และภาคการส่งออกหดตัวลดลงเช่นกัน โดยหดตัวที่ร้อยละ -8.9 และ -7.0 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ว่าการลงทุนในส่วนของเครื่องมือเครื่องจักรรวมถึงการส่งออกสุทธิเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น

สาเหตุหนึ่งที่การลงทุนโดยรวมและการส่งออกสุทธิขยายตัวได้ดีนั้น น่าจะมาจากความต้องการตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นตาม สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (ISM Manufacturing Purchasing Manager Index: ISM PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำการผลิต (Leading Indicator) ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังคงบ่งชี้ถึงภาวะการผลิตที่ชะลอตัวอยู่ โดยล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 48.9 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับต่ำสุดที่ระดับ 32.9 ในเดือนมกราคม ทั้งนี้หากอัตราดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50 ถือว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะชะลอตัวแต่หากอัตราดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 40 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะถดถอย

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สาเหตุของการส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของรัฐบาลโดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วนอย่างโครงการสวัสดิการผู้ว่างงาน (Making work Pay Tax Credit) และมาตรการเข้าช่วยเหลือภาคการเงินผ่านโครงการ Capital Assistant Program (CAP) รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน นอกจากนั้น การที่รัฐใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้การใช้จ่ายภาครัฐโดยรวม ทั้งในส่วนรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ขยายตัวถึงร้อยละ 5.6 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวอีกครั้ง อันเนื่องมาจากการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดที่ร้อยละ 70 ของ GDP หดตัวร้อยละ -1.2 ในไตรมาส 2 ปี หลังจากมีการขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่ 1 ทั้งนี้ อาจจะเป็นผลมาจากการที่ (1) ประชาชนสหรัฐฯ มีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤต ซึ่งเห็นได้จากสัดส่วนการออมภาคเอกชนต่อรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (Personal Saving as a percent of Disposable Income) ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ในเดือนพฤษภาคม (2) การที่ทางการสหรัฐฯ ทำนโยบายขาดดุลอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐ ณ สิ้นปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ 86.2 ของ GDP ปรับเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 67.7 ของ GDP ณ ช่วงสิ้นปี 2551 ซึ่งจะทำให้ประชาชนคาดว่ารัฐบาลอาจจะต้องเพิ่มภาษีในอนาคตเพื่อลดหนี้สาธารณะ (Ricardian Equivalence) ประชาชนจึงเก็บออมเงินที่ได้จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (3) การที่ผู้ผลิตหยุดการผลิตชั่วคราวในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 จนถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เพื่อระบายสินค้าคงทน (Durable good) คงค้าง รวมถึงการลดราคาของสินค้าเพื่อระบายสินค้าคงค้างในไตรมาสที่ 1 จึงน่าจะทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าคงทนในไตรมาสที่ 1 และชะลอการซื้อการบริโภคสินค้าประเภทนี้ในไตรมาสที่ 2 ลง และทำให้ภาคการบริโภคเอกชนโดยรวมหดตัวลงไปด้วย และ (4) ภาคการเงินที่ยังคงกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จึงชะลอการปล่อยสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคลง เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Credit) ที่หดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.3 ต่อเดือนในเดือนมิถุนายน

นอกจากนั้น การที่อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 26 ปีที่ร้อยละ 9.4 ในเดือนกรกฎาคม และอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับที่สูงกว่าร้อยละ 10 ในต้นปี 2553 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้รายได้สุทธิของผู้บริโภค (Disposable Income) ลดลง และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในครึ่งปีหลังเป็นไปได้ยากขึ้น

ทิศทางสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต

จากภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว ทำให้เป็นไปได้ว่าลักษณะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะรอดพ้นจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องยาวนาน (หรือที่เรียกว่า Ushape หรือ L-shape) และกำลังเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว

อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจกลับมาหดตัวอีกครั้ง (W-shape recovery) หลังเริ่มพลิกฟื้นเนื่องจากภาคเศรษฐกิจที่พลิกฟื้นขึ้นเป็นการลงทุนภาคเอกชนและภาคการส่งออกที่หดน้อยลงที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ที่หดตัวถึงร้อยละ -29.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ภาคอื่น ๆ ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคการบริโภคที่เริ่มเห็นความเสี่ยงของการ ชะลอตัวลงอีกครั้ง ดังนั้น หากมีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ ที่นำไปสู่การที่ผู้บริโภคตื่นตระหนกอีกครั้ง เช่น ภาวะโรคระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ความผันผวนของตลาดเงินทุน และอัตราการว่างงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีผลทำให้ภาคการบริโภคหดตัวลงอีกครั้งได้นอกจากนั้น สถานการณ์ด้านภาคการเงินที่ยังมีความเปราะบางสูง แม้ว่าทางการจะเข้าช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ เช่น Capital Assistant Program (CAP) โดยล่าสุดการล้มละลายของธนาคาร Colonial Bank ใน มลรัฐ Alabama บ่งชี้ว่าสถานการณ์ภารการเงินยังคงเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการบริโภคโดยรวมได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาทางด้านอุปทานแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าช่วงที่ผ่านมาสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม ที่วัดจากดัชนี ISM Manufacturing Purchasing Manager Index (ISM PMI) นั้นมาจากการที่สินค้าคงคลังเริ่มขายออกไปได้หลังจากยุติการผลิตชั่วคราวเพื่อระบายสินค้าคงค้างเหล่านี้ และเป็นไปได้ว่าหากภาคการบริโภคยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างยั่งยืน อาจทำให้สินค้าคงคลังกลับมามากขึ้น และทำให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดการผลิตอีกครั้ง

แนวนโยบายของทางการสหรัฐฯ

จากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ สศค. คาดว่าในครึ่งหลังของปี 2552 ทางการสหรัฐฯ น่าจะพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศให้มากขึ้น (หรือที่เรียกว่า Crowding-in or Multiplier Effect)

ทั้งนี้ สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาสำคัญของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ที่อัตราการเบิกจ่ายที่ค่อนข้างต่ำ โดยเมื่อเทียบกับวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมาตรการด้านภาษีขณะที่อีกประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นการใช้จ่ายภาครัฐโดยตรง) นั้นยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยงบประมาณในด้านภาษีได้มีการเบิกจ่ายไปเพียงประมาณ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐโดยตรงนั้นได้มีการเบิกจ่ายไปเพียง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งโดยรวมแล้วส่งผลให้ยอดการเบิกจ่ายเท่ากับประมาณ 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียงประมาณ ร้อยละ 10 จากวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.87 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

ดังนั้น ในระยะต่อไป ความท้าทายของรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากขึ้นโดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะรวมระยะเวลา 10 ปีแต่ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแล้วนั้น จะมีการเร่งการเบิกจ่ายมากในช่วง 3 ปีแรก ที่ประมาณ 1.85 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2552 3.99 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 และ 1.34 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าการเบิกจ่ายในเชิงปฏิบัติอาจเผชิญกับความยากลำบาก เนื่องจากหลายโครงการเป็นโครงการระดับมลรัฐซึ่งจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติในมลรัฐด้วย

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลกลางไม่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายให้ได้ตามแผนแล้วนั้น อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวลงอีกครั้ง (หรือเป็น W-Shape Recovery) ได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ